หลักสูตร

 มิติที่ทำให้หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์  เหมาะจะเป็นทางเลือกของผู้สนใจประวัติศาสตร์ คือ
  1. เนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ไทยและภูมิภาคหลักๆ ของโลก  สามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ   
  2. อาจารย์ในหลักสูตรมีความรู้ความชำนาญที่หลากหลาย   เรามีทั้งผู้ที่เรียนจบด้านสถาปัตย์ โบราณคดี เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วัฒนธรรมศึกษา ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาสเปน    แต่ประวัติศาสตร์เป็นจุดร่วมที่ดึงให้ทุกท่านมาสอนในหลักสูตรนี้   หลักสูตรจึงเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการศึกษาประวัติศาสตร์  อาทิ  ประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม  ประวัติศาสตร์ Pop culture  ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์กับภาพยนตร์  ประวัติศาสตร์ความรุนแรง  การท่องเที่ยวในมิติประวัติศาสตร์ ฯลฯ 
  3. หลักสูตรให้ความสำคัญกับการฝึกปฏิบัติทั้งในและนอกห้องเรียน  การจัดเรียนการสอนเปิดโอกาสให้ฝึกทักษะการนำเสนอและอภิปรายในชั้นเรียน   มีการค้นคว้าหาข้อมูลนอกสถานที่  รวมถึงการออกภาคสนามในประเทศ (หรือต่างประเทศบ้างตามความเหมาะสม)   
  4. แม้จะเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี แต่ให้ความสำคัญกับการศึกษาแนวคิดซึ่งเป็นหัวใจของการถกเถียงทางประวัติศาสตร์   ตั้งคำถามแม้แต่เรื่องที่เคยถูกสอนให้เชื่อมากที่สุด  พร้อมทั้งฝึกให้หาคำตอบด้วยตนเอง โดยสอดแทรกไว้ในการเรียนการสอนตลอดทั้งหลักสูตร

หลักสูตรเหมาะกับผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองในด้านความคิด ทักษะการเขียน ทักษะการใช้เหตุผล โดยมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐาน    การฝึกฝนในแนวทางนี้จะทำให้ผู้เรียนติดตามเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ในสังคมปัจจุบันได้ลุ่มลึกกว่าความคิดเห็นทั่วๆ ไป  มีมุมมองที่กว้าง สนใจการค้นคว้าข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ แยกแยะ สามารถให้ความเห็นที่มีคุณค่า  ท่ามกลางยุคสมัยที่การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉาบฉวย

ดังนั้น  จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรจะมีทักษะเพียงพอสำหรับการทำงานในตำแหน่งต่างๆ อาทิ  รับราชการ  เจ้าหน้าที่สถานทูต  นักวิจัย  ครู  อาจารย์มหาวิทยาลัย  บริษัทเอกชน  ตำแหน่งงานที่ต้องจัดการกับข้อมูลประเภทต่างๆ  งานสายการบินทั้ง ground staff และลูกเรือ 

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ ใช้เวลาเรียน 4 ปี  แต่ละปีมี 2 ภาคการศึกษาปกติ  ค่าลงทะเบียนตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำหนดประมาณภาคการศึกษาละ 15,300 บาท ตลอดทั้งหลักสูตร     ทั้งนี้ ผู้เรียนอาจสำเร็จการศึกษาภายใน 3 ปีครึ่งได้ แต่ต้องลงทะเบียนในภาคฤดูร้อนซึ่งเป็นภาคการศึกษาพิเศษและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากที่ระบุไว้

ดาวน์โหลดหลักสูตร (2561) ได้ที่นี่

ดาวน์โหลดหลักสูตร (2566) ได้ที่นี่

                                                    

 

เอกประวัติศาสตร์ TU: คำถามที่ไม่มีคำตอบ 

https://www.youtube.com/watch?v=-WZ_wN_k7Wk

 จุดเด่นของหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คือ การเปิดกว้างให้กับความสนใจของผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ ดังนั้นหลักสูตรจึงเปิดรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาวิชา นักศึกษาที่ผ่านจึงมีทั้งผู้ที่จบปริญญาตรีทางด้าน วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์  สถาปัตยกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สื่อสารมวลชน ฯลฯ ซึ่งทำให้หัวข้อวิทยานิพนธ์ของหลักสูตรมีความหลากหลาย อันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาที่มีความหลากหลายนั่นเอง

  1. วิชาที่เปิดสอนโดยคณาจารย์มีความหลากหลาย นักศึกษาสามารถเลือกลงทะเบียนในวิชาที่ตัวเองสนใจและตรงกับความต้องการของนักศึกษาได้อย่างมากมาย
  2. เนื้อหาของหลักสูตรเน้นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของภูมิภาคต่างๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้ระเบียบวิจัยและแนวคิดทฤษฎีของสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์อื่นๆ ซึ่งทำให้ผู้เขียนมีองค์ความรู้ที่นอกเหนือจากประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว
  3. คณาจารย์ในหลักสูตรมีความเชี่ยวชาญในหลายหัวข้อและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง จึงพร้อมสำหรับการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในหัวข้อที่นักศึกษาสนใจได้อย่างเพียงพอ
  4. เนื่องจากหลักสูตรมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าและสร้างนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่สามารถตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบและอธิบายเรื่องราวเหล่านั้นออกมาได้อย่างสร้างสรรค์และสมเหตุสมผลทางวิชาการ นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรจึงสามารถประกอบอาชีพได้ทุกวงการที่ต้องการผู้ที่มีทักษะเหล่านี้ทั้งในภาครัฐและเอกชน เช่น วงการการศึกษา วงการหนังสือและสื่อสารมวลชน วงการพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ เป็นต้น

นอกจากการศึกษาในชั้นเรียนแล้ว หลักสูตรยังมีการจัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการรวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนและการเขียนวิทยานิพนธ์อย่างสม่ำเสมอทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และยังส่งเสริมให้นักศึกษาขอทุนสนับสนุนการทำวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์จากองค์กรอย่างเช่นสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตลอดจนการไปนำเสนอผลงานวิชาการของนักศึกษาในเวทีระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตจัดการศึกษาเป็นภาษาไทย รับทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติที่สามารถใช้ภาษาไทยในการเรียนได้ เป็นหลักสูตรแบบศึกษาเต็มเวลา นักศึกษาต้องใช้ระยะเวลาการศึกษาตลอดหลักสูตร อย่างน้อย 4  ภาคการศึกษาปกติ และอย่างมากไม่เกิน 8  ภาคการศึกษาปกติ ดังนั้นนักศึกษาจึงสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในเวลาตั้งแต่ 2 ถึง 4 ปี  ค่าลงทะเบียนตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำหนดประมาณภาคการศึกษาละ 16,500 บาท ตลอดทั้งหลักสูตร

 

ดาวน์โหลดหลักสูตร

VDO แนะนำหลักสูตร

 

Read more

       จุดเด่นของหลักสูตรศิลปศาสตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คือ การเปิดกว้างให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ ดังนั้นหลักสูตรจึงเปิดรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโททุกสาขาวิชา ตั้งแต่เปิดหลักสูตรเมื่อปี 2557 มีผู้ที่จบปริญญาโทมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์สนใจเข้ามาเป็นนักศึกษาของหลักสูตร โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งอาจารย์ระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีผู้ที่สนใจการผลิตองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในอาชีพผู้สอนอีกด้วย

          การศึกษาของหลักสูตรแบ่งเป็นสองแผน คือ แบบเฉพาะการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยมาแล้วระดับหนึ่ง และแบบศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์ ที่เหมาะกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทมาไม่นานนัก หรือยังมีประสบการณ์การวิจัยด้านประวัติศาสตร์ไม่มาก

          นอกจากการศึกษาในชั้นเรียนแล้ว หลักสูตรยังมีการจัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการตลอดจนกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนและการเขียนวิทยานิพนธ์อย่างสม่ำเสมอทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และยังส่งเสริมให้นักศึกษาขอทุนสนับสนุนการทำวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์จากองค์กรต่างๆ นอกเหนือจากทุนภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการนำเสนอผลงานวิชาการในเวทีระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย

          หลักสูตรศิลปศาสตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตรับทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติ เป็นหลักสูตรแบบศึกษาเต็มเวลา นักศึกษาต้องใช้ระยะเวลาการศึกษาตลอดหลักสูตร อย่างน้อย 7  ภาคการศึกษาปกติ และอย่างมากไม่เกิน 12 ภาคการศึกษาปกติ ดังนั้นนักศึกษาจึงสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในเวลาตั้งแต่ 3.5 ถึง 6 ปี ค่าลงทะเบียนตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำหนดประมาณภาคการศึกษาละ 21,300 บาท

ดาวน์โหลดหลักสูตร

 แนะนำหลักสูตร

Read more