ประชาสัมพันธ์

TCAS 64 สาขาประวัติศาสตร์

สัมมนาบัณฑิตศึกษา: เศรษฐกิจไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

สัมมนาบัณฑิตศึกษา: การกระจายวัฒนธรรมไทยผ่านสัญลักษณ์กับปฏิกิริยาตอบโต้ในภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ของสยาม พ.ศ. 2416-2453

วิศรุต พึ่งสุนทร: ปริทรรศน์นักทฤษฎีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมสมัย

ตามไท ดิลกวิทยรัตน์: ปริทรรศน์นักทฤษฎีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมสมัย

จดหมายเหตุดิจิทัลเอกชน : เมื่อเอกสารของเรากลายเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์
สรุปโดย วิราวรรณ นฤปิติ
ปัจจุบันสื่อดิจิทัลเป็นช่องทางการเผยแพร่ความรู้ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ดังที่ปรากฏหอจดหมายเหตุดิจิทัลเอกชนที่นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ครอบครัว อัตชีวประวัติบุคคล ประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ การเมืองไม่ว่าจะระดับองค์กร สถาบัน ห้างร้าน สมาคม ฯ เต็มไปด้วยความหลากหลาย ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบเว็บไซต์ ยูทูป เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เช่น ThaiPublica iLaw The 101 World เพจบุคคลสาธารณะทางเฟซบุ๊ก ทั้งด้านอัตชีวประวัติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯลฯ เหล่านี้ที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นฐานในการเผยแพร่ข้อมูลทั้งวิชาการและกึ่งวิชาการ รวมทั้งมีการปรับตัวของสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่และสำนักพิมพ์น้องใหม่อีกมากมาย ที่หันเข้าหาช่องทางในการเผยแพร่ออนไลน์ และให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลอย่างจริงจัง
สาขาวิชาประวัติศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญของสื่อดิจิทัล โอกาสในการพัฒนาวิชาชีพ และพันธกิจของนักประวัติศาสตร์ที่ปรับตัวตามโลกปัจจุบันนี้ จึงได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท หมวดวิชาประวัติศาสตร์สาธารณะ โดยจะเริ่มจัดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2563 วิชาที่เปิดสอนประกอบไปด้วย 1) สัมมนาประวัติศาสตร์กับสื่อ (Seminar in History and the Media) 2) สัมมนาการสะสมและพิพิธภัณฑ์ (Seminar in Collecting and the Museum) 3) จดหมายเหตุและการอนุรักษ์ (Archive and Preservation) และ 4) สัมมนาประวัติศาสตร์สาธารณะ (Public History Seminar) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการฝึกทักษะทางวิชาการประวัติศาสตร์ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างหลากหลาย
ก่อนที่หลักสูตรจะเปิดใช้จริงในปีหน้า สาขาวิชาประวัติศาสตร์ได้จัด “สัมมนาเชิงปฏิบัติการ: จดหมายเหตุดิจิทัล” ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562 โดยได้เชิญ อ.ดร.นยา สุจฉายา อาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรในหัวข้อ “จดหมายเหตุดิจทัลเอกชน: เมื่อเอกสารของเรากลายเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์” ตลอดจนเยี่ยมชมการปฏิบัติงานจริงที่สำนักหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำว่า “จดหมายเหตุ” ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เอกสารราชการที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญของรัฐเท่านั้น แต่ยังหมายรวมทั้ง วัตถุ สิ่งของที่อยู่ในชีวิตของสังคม ปัจจุบันบริษัทเอกชนทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยต่างตื่นตัวกับการสร้างหอจดหมายเหตุขององค์กร หรือจดหมายเหตุธุรกิจ (business archives / corporate archives) อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างแบรนด์ (branding) ของบริษัท นอกจากนั้นยังมีจดหมายเหตุเอกชนในรูปแบบอื่นที่สำคัญอีกอย่างจดหมายเหตุชุมชน (community archives) เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ชมรมคนรักศรีราชา จดหมายเหตุส่วนบุคคล (personal archives) เช่น หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ
โดยงานจดหมายเหตุในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักจดหมายเหตุอาชีพเท่านั้น แต่ได้เปิดกว้างให้คนธรรมดาทั่วไปได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความทรงจำ อ.ดร.นยา ได้แนะนำตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์ที่จัดโครงการนักจดหมายเหตุประชาชน (The Citizen Archivist Project) ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการนำภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บันทึกส่วนตัว เรื่องเล่า ฯลฯ ที่เป็นความทรงจำส่วนตัวและคนรอบข้างมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานประวัติศาสตร์ นอกจากตัวอย่างดีๆ วิทยากรยังได้แนะนำขั้นตอนในการสร้างจดหมายเหตุเอกชน โดยเริ่มจากการกำหนดเป้าหมาย หลักการคัดเลือกหลักฐาน การพิจารณาคุณค่าของหลักฐาน การจัดการ และการรักษาหลักฐาน ในยุคสมัยที่สื่อดิจิทัลมีบทบาทมากเช่นปัจจุบัน นักจดหมายเหตุได้ปรับตัวในการทำงานกับเอกสารดิจิทัล (born digital records) และพัฒนาวิธีการจัดเก็บเอกสารในรูปแบบเดิม (traditional records) ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อการอนุรักษ์เอกสารหายากและเปิดโอกาสให้การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้กว้างขวางและง่ายขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างประวัติศาสตร์สาธารณะ

History talk # ฟังเรื่องฮ่องกงไม่ซ้ำใคร มองฮ่องกงผ่านประวัติศาสตร์ยุคใกล้
โดย ผศ.ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ และ ผศ.ศุภวิทย์ ถาวรบุตร

สัมมนาบัณฑิตศึกษา
การสร้างประวัติศาสตร์ไทยเหนือสมัยใหม่และการเมืองของประวัติศาสตร์นิพนธ์ โดย อ.นิตยาภรณ์ พรหมปัญญา ศุกร์ที่ 27 ก.ย.2562 เวลา 13.00-16.00 น. ห้อง 307 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สัมมนาบัณฑิตศึกษา
อะไรคือ บทบาทของประเทศไทยในสงครามปลดแอกอินโดนีเซีย สรุปบรรยายสัมมนาบัณฑิตศึกษา เรื่อง บทบาทของประเทศไทยในสงครามปลดแอกอินโดนีเซีย โดย อ.ธนัท ปรียานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศุกร์ที่ 13 ก.ย.2562 เวลา 13.00-16.00 น. ห้อง 307 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อะไรคือ บทบาทของประเทศไทยในสงครามปลดแอกอินโดนีเซีย
สรุปโดย วัฒนา กีรติชาญเดชา
ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซียและประเทศไทยจะให้ความสำคัญอยู่กับ VOC หรือช่วงรัชกาลที่ 5 แต่แทบจะมีน้อยมากในงานที่พูดถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในบริบทของความขัดแย้งระหว่างเนเธอร์แลนด์และอินโดนีเซียในสงครามต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช
นั่นคือบทบาทของไทยในความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการบนฐานะตลาดค้าอาวุธและประตูสู่โลกภายนอกของฝ่ายเรียกร้องเอกราชของอินโดนีเซีย
ในความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างอินโดนีเซียและไทย แม้ว่าจะมีการติดต่อทางการทูตและการรับรองประเทศใหม่กับรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ โดยให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่ภายหลังรัฐประหาร 2490 ท่าทีของไทยเปลี่ยนไปโดยไม่สนับสนุนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการอีกต่อไป จนท้ายที่สุดประเทศไทยมีการติดต่อทางการทูตและให้การสนับสนุนอย่างฉับพลัน 10 วันก่อนได้รับเอกราช
ในความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ นอกเหนือจากฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ไทยเป็นตลาดมืดอีกแห่งที่ฝ่ายเรียกร้องเอกราชอินโดนีเซียทำการติดต่อค้าขายซื้ออาวุธ เนื่องจากไทยในภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีอาวุธในตลาดมืดที่ได้จากการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นและอาวุธจากความช่วยเหลือสหรัฐอเมริกาที่ลักลอบนำมาขาย กรุงเทพฯ จึงเป็นแหล่งค้าอาวุธเถื่อนหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ซัพพอร์ตขบวนการเรียกร้องเอกราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แล้วอะไรทำหน้าที่เป็น "ท่อน้ำเลี้ยง" ของฝ่ายเรียกร้องเอกราชอินโดนีเซียในไทย
ชายผู้นั้น คือ John Coast นักเขียนชื่อดังที่มีอีกบทบาทหนึ่งในฐานะผู้จัดหาอาวุธและเครือข่ายต่างประเทศของฝ่ายอินโดนีเซีย โดยมีฐานปฏิบัติการในประเทศไทย John Coast อดีตเป็นทหารผ่านศึกชาวอังกฤษ และทำงานในสถานทูตอังกฤษ ก่อนลาออกมาร่วมกับฝ่ายต่อต้านการปกครองของเนเธอร์แลนด์ในอินโดนีเซีย นั่นเป็นเบื้องหลังที่ทำให้เขามีเครือข่ายในกรุงเทพฯ
สะพานเชื่อมระหว่าง John Coast กับอินโดนีเซีย คือ เครืื่องบินจดทะเบียนในประเทศไทยผ่านบริษัท Pacific Overseas Airlines Siam ที่ Coast ดีลเพื่อให้เครื่องบินเถื่อนจอดในไทยได้ โดยทำหน้าที่ขนคนและอาวุธในเส้นทางกรุงเทพฯ-อินโดนีเซีย โดยใช้สนามบินที่สงขลา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของพลตรีไชย ประทีปะเสนเป็นจุดแวะพัก นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องบินของสายการบิน Siamese Airway ขนคนไปยังอินโดนีเซีย ด้วย
นอกจาก Coast แล้ว ยังมี Richard Cobley อดีตทหารผ่านศึกชาวอังกฤษเป็นผู้ขนฝิ่นจากอินโดฯ มาขายในตลาดมืด โดยอาศัยเครื่องบินเดินทางอย่างผิดกฎหมาย ก็อาศัยสนามบินที่สงขลา ดอนเมือง และคลองเตย (คลองเตยของบริติชแอร์เวย์) โดยมีสายสัมพันธ์กับบริษัท P&M ของ ม.ร.ว.พงศ์อมร กฤดากร ที่นายหน้าจัดการข้อยุ่งยากทางกฎหมาย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ Siameric Company ที่มี ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล (น่าจะทำ Shipping) คอยทำหนังสือลงจอดให้ Cobley ในขณะเดียวกันที่สงขลา ม.จ. รังษิยากร อาภากร เป็นผู้ดูแล
นอกจากนี้ยังมีบทบาทของทุนอเมริกันจาก American Indonesian Corporation ของ Matthew Fox ผ่านทาง Bangkok Brokerage Company ซึ่งเป็นนายหน้า ภายหลังที่ยอกยาการ์ตาถูกยึด จึงทำให้ฝ่ายอินโดนีเซียไม่สามารถค้าขายโดยตรงกับสิงคโปร์ได้ จึงย้ายตลาดมายังภูเก็ตแทน
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องการหยุดยั้ง จึงต้องเข้ามาติดต่อกับหน่วยงานในเมืองไทย แต่รัฐบาลไทยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ และปล่อยให้เครื่องบินผิดกฎหมายบินเข้าออกเรื่อย ๆ บทบาทของรัฐบาลไทยจึงมีส่วนในความเคลื่อนไหวผิดกฎหมาย เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้พยายามควบคุมเรื่องดังกล่าว ตลอดจนมีบุคคลระดับสูงในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้อง
นี้เป็นบทบาทของไทยในความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการในสงครามปลดแอกอินโดนีเซียในฐานะซัพพลายเออร์เครื่องมือที่นำไปสู่เอกราช

ถอดบทเรียนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอินโดนีเซีย โดย ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล
วันพุธที่ 12 มิ.ย.2562 ชั้น 4 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง