แนะนำหนังสือ Gender in Japanese History

Academic Book

性差の日本史  โดย 国立歴史民族博物館, 2020, 314 หน้า และ 新書版 性差の日本史  โดย 国立歴史民族博物館, 2021, 221 หน้า

แนะนำโดย นิภาพร รัชตพัฒนากุล

เผยแพร่เมื่อ 19 พฤษภาคม 2566

 

เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษารวมทั้งมิตรสหายชาวญี่ปุ่นทราบว่าผู้เขียนจะสอนวิชาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็ได้แนะนำรวมทั้งกรุณามอบหนังสือภาษาญี่ปุ่นมาหลายเล่ม เล่มที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษและหยิบขึ้นมาอ่านเพื่อใช้ในการบรรยายเป็นเล่มแรก คือ 性差の日本史  หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Gender in Japanese History แม้จะยังอ่านไม่จบ แต่ด้วยความตื่นตาตื่นใจกับเนื้อหาและภาพประกอบจึงนำเนื้อหาบางส่วนบรรยายในชั้นเรียนบ้างแล้ว และประเมินไปโดยลำพังว่าเนื้อหาและภาพประกอบช่างสนุกสนานน่าสนใจ  ความชื่นชอบทำให้หยิบหนังสือมาพลิกดูอยู่หลายครั้งและอยากจะแนะนำให้ผู้อื่นได้รู้จักด้วย แต่เนื่องจากเป็นหนังสือภาษาญี่ปุ่นและยังไม่มีฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่ทำให้ลังเลใจอยู่นาน จนสุดท้ายเห็นว่าแม้หนังสือยังเข้าถึงได้ไม่สะดวกนักสำหรับนักอ่านชาวไทย แต่การแนะนำเนื้อหาน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจประเด็นเพศสภาพ (gender) ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอยู่บ้าง

Gender in Japanese History เป็นหนังสือขนาดใหญ่พิมพ์กระดาษอาร์ตมันสีสี่ทั้งเล่มทำขึ้นเพื่อประกอบการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษในหัวข้อเดียวกับชื่อหนังสือของ National Museum of Japanese History (国立歴史民族博物館) จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2020 แม้ผู้เขียนไม่มีโอกาสชมนิทรรศการ เนื่องจากปลายปี 2020 อยู่ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ด้วยความเมตตาของอาจารย์ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นที่กรุณาส่งหนังสือน้ำหนักกว่าหนึ่งกิโลกรัมมาให้ทางไปรษณีย์ทำให้ความรู้ดีๆ เล่มนี้มาถึงมือผู้เขียนในเวลาไม่นานหลังวางแผงจำหน่าย จึงขอขอบพระคุณ ณ ที่นี้อีกครั้ง และต้องขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนได้รับหนังสือเรื่องเดียวกันที่ปรับปรุงเนื้อหาใหม่เพื่อเผยแพร่ในรูปแบบฉบับพกพาปกอ่อน เนื่องจากนิทรรศการพิเศษนี้ได้เสียงตอบรับที่ดีมากทำให้พิพิธภัณฑ์จัดพิมพ์ฉบับพกพาในปี 2021 โดยมีเนื้อหาหลักครบถ้วนเหมือนเล่มปี 2020 แต่ตัดภาพและคำอธิบายภาพออก แม้ฉบับพกพายังคงมีภาพประกอบที่น่าสนใจหลายรูปแต่พิมพ์เป็นภาพขาวดำทั้งหมด

นิทรรศการพิเศษที่ถ่ายทอดเนื้อหาผ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ปรับปรุงมาจากโครงการวิจัยพื้นฐานเรื่อง Gendering the History of the Japanese Archipelago ทำขึ้นระหว่างปี 2016-2018 มี ศาสตราจารย์ Yokoyama Yuriko เป็นหัวหน้า โดยรวบรวมและสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัยสาขาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นเพศสภาพในญี่ปุ่นที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ถึงปัจจุบัน แวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ในระดับสากลเริ่มให้ความสนใจต่อประเด็นเพศสภาพตั้งแต่ทศวรรษ 1980 อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 กระแสดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวงวิชาการประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจนทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์เพศสภาพในสังคมญี่ปุ่นเริ่มแพร่หลายมากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990 อันเป็นจุดเริ่มต้นของงานศึกษาจำนวนมากที่กลายมาเป็นพื้นฐานให้กับการสร้างคำอธิบายภาพรวมประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นผ่านมุมมองเพศภาพของโครงการวิจัยและนิทรรศการพิเศษนี้

หนังสือฉบับสี่สีปี 2020 และ ฉบับพกพาปี 2021 นำผู้อ่านเข้าสู่โลกของประวัติศาสตร์ด้วยการชี้ชวนให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ ที่สังคมญี่ปุ่นรู้จักนั้นเป็นปรากฏการณ์เพียงน้อยนิดที่ถูกบันทึกและเหลือรอดมาให้สังคมรุ่นหลังรับรู้ คำว่า 歴史 / reki-shi หรือ ประวัติศาสตร์ ในภาษาญี่ปุ่นเองก็สะท้อนนัยดังกล่าว คำว่า ประวัติศาสตร์ ในภาษาญี่ปุ่นประกอบไปด้วย / reki ซึ่งมีนัยถึงปรากฏการณ์ในอดีตมากมายนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นและจางหายไป และมีปรากฏการณ์จำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกบันทึกไว้ในรูปของลายลักษณ์อักษรหรือ / shi แม้เรื่องราวของผู้หญิงจะปรากฏอยู่อย่างมากมายตลอดเวลาอันยาวนานของหมู่เกาะญี่ปุ่น แต่มีเพียงเศษเสี้ยวที่ได้รับการจดจำและถ่ายทอด คณะวิจัยเพื่อจัดทำนิทรรศการพิเศษจึงพยายามนำตัวตนและเรื่องราวของผู้หญิงที่จางหายไปในกาลเวลากลับมาให้คนในสังคมปัจจุบันได้รับรู้อีกครั้ง โดยมีคำถามวิจัยข้อแรกที่ว่าการแบ่งแยกระหว่างชายและหญิงในสังคมหมู่เกาะญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร และวัตถุประสงค์ของการแบ่งแยกตลอดจนสำนึกที่เกิดขึ้นจาการแบ่งแยกเพศนั้นเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาอย่างไร ข้อที่สอง ภายใต้โครงสร้างของเพศสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลานั้นผู้คนดำรงชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่ภายใต้โครงสร้างของเพศสภาพในแต่ละช่วงเวลารับมือกับเงื่อนไขนั้นอย่างไร นิทรรศการนี้ต้องการเพ่งพินิจประสบการณ์และเสียงของผู้หญิงอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้วิเคราะห์โครงสร้างตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเพศสภาพในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างรอบคอบ

เนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็นสามหัวข้อหลักกระจายออกเป็น 7 บท หัวข้อแรก คือ ชายหญิงในพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีเนื้อที่มากที่สุดกระจายอยู่ในบทที่ 1 บทที่ 2 บทที่ 3 บทที่ 5 และ บทที่ 7 หัวข้อที่สอง เพศสภาพในการทำงานและการใช้ชีวิต คำอธิบายเรื่องนี้กระจายอยู่ในบทที่ 3 บทที่ 4 และ บทที่ 7 ส่วนหัวข้อที่สาม การขายบริการทางเพศและสังคม ปรากฏอยู่อย่างเป็นเอกภาพในบทที่ 6 ฉบับสี่สีปี 2020 ได้สรุปย่อใจความหลักของแต่ละบทเป็นภาษาอังกฤษไว้ท้ายเล่ม ผู้เขียนจึงขอแนะนำตามบทคัดย่อผสมกับเนื้อหาภาษาญี่ปุ่นที่ปรากฏในตัวเล่มเพื่อความชัดเจน

แม้คณะผู้จัดทำหนังสือและนิทรรศการจะพยายามจัดแบ่งเนื้อหาตามประเด็นเพศสภาพแต่ด้วยระเบียบวิธีการวิจัยที่ยึดกรอบการอธิบายแบบประวัติศาสตร์เป็นหลักทำให้การจัดเรียงเนื้อหายังคงให้ความสำคัญกับการอธิบายตามลำดับเวลามากที่สุด เนื้อหาทั้ง 7 บทจึงไล่เรียงจากยุคโบราณมาจนถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เริ่มจาก บทที่ 1 Gender in Classical Japanese Society ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การแบ่งเพศเริ่มปรากฏในกลุ่มผู้ปกครอง เนื้อหาในบทนี้เน้นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของรัฐและการเมือง เพื่ออธิบายจุดเปลี่ยนที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นสมัยโบราณเปลี่ยนจากสังคมที่ไม่มีการแบ่งเพศมาสู่สังคมที่เริ่มมีการแบ่งเพศโดยเริ่มจากกลุ่มผู้ปกครอง โดยแต่เดิมนั้นการแบ่งหน้าที่ระหว่างหญิงชายในสังคมญี่ปุ่นสมัยโบราณไม่มีความชัดเจน ผู้คนทำงานกันเป็นกลุ่ม ส่งผลผลิตเป็นส่วยให้ผู้ปกครองและต่างมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรมซึ่งเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจที่สำคัญของผู้ปกครองในสมัยจารีต ข้อมูลโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าสังคมโบราณหลายแห่งมีผู้นำชุมชนเป็นผู้หญิง กระทั่งเข้าสู่ปลายศตวรรษที่ 7 การแบ่งแยกบทบาทระหว่างหญิงชายจึงชัดเจนมากขึ้นโดยเริ่มจากกลุ่มผู้ปกครองก่อน กระทั่งเกิดรัฐจารีต (ritsuryo state) แล้ววิถีปฏิบัตินี้จึงขยายไปสู่สังคมวงกว้าง แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ยังพบว่าชายหญิงยังคงมีบทบาทร่วมกันในพื้นที่ทางการเมืองในชุมชนท้องถิ่น เมื่อเข้าสู่ยุคกลางราวศตวรรษที่ 10 และสมัยใหม่ช่วงต้นการแบ่งแยกบทบาททางเพศจึงปรากฏอยู่ในครอบครัวสามัญ

แม้การเกิดรัฐจารีตจะทำให้การแบ่งบทบาททางเพศในกิจกรรมทางการเมืองชัดเจนยิ่งขึ้นจนทำให้บทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้นำจางหายไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงไม่มีบทบาทในการเมืองระดับสูงเลย บทที่ 2 Politics and Gender in Medieval Japan อธิบายประเด็นนี้ผ่านบทบาทของ nyobo / เนียวโบ / 女房  สตรีอาวุโสที่ทำหน้าที่ดูแลระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างคนในตระกูลของตนเองและระหว่างตระกูลในสังคมชนชั้นสูงของญี่ปุ่นยุคกลาง โดยเฉพาะช่วง Muromachi (ค.ศ.1338-1573) และ Sengoku (ค.ศ.1454-1573) โดยทำหน้าที่บริหารจัดการอำนาจทั้งการเมืองและเศรษฐกิจในตระกูลซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐบาลนักรบตลอดจนราชสำนัก บทบาทเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากการที่สมาชิกคนสำคัญในรัฐบาลนักรบและราชสำนักให้ความสำคัญต่อจดหมายส่วนตัวแสดงความต้องการทางการเมืองของเนียวโบในตระกูลของตนเองในฐานะเอกสารราชการ

ส่วนการทำความเข้าใจพื้นที่ทางการเมืองของครอบครัวนอกแวดวงสังคมชนชั้นสูงในยุคกลางนั้นสามารถอธิบายผ่านกิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัวและศาสนา บทที่ 3 Medieval Household and Religion บอกเล่าสังคมญี่ปุ่นยุคกลางซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามต่อเนื่องยาวนานหลายร้อยปีทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของหญิงม่ายที่สามีเสียชีวิตในสนามรบว่าเป็นผู้ดูแลลูกและบริหารจัดการสมบัติของครอบครัวสามี ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตระกูลฝั่งสามี หญิงม่ายจำนวนมากสมัครใจใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยการอุทิศตนให้กับศาสนาและกลายเป็นนักบวชที่มีบทบาทสำคัญในสังคม หลังจากทำความเข้าใจประเด็นเพศสภาพในพื้นที่ทางการเมืองมาสามบทต่อเนื่องแล้ว บทที่ 4 Gender in Work and Life – From Medieval to Early Modern Times พาผู้อ่านมาสู่การอธิบายเพศสภาพผ่านการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงยุคกลางต่อสมัยใหม่ช่วงต้น ช่วงนี้เป็นเวลาที่เริ่มเกิดภาพจำเกี่ยวกับอาชีพที่แบ่งเป็นอาชีพของผู้ชายและอาชีพของผู้หญิง โดยหนังสือแสดงให้เห็นผ่านการนำเสนอลักษณะการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศที่พบในอาชีพต่างๆ เช่น ชาวนาปลูกข้าว ช่างทำผม ช่างฝีมือ นอกจากนั้นยังนำเสนอหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงจำนวนมากประสบความสำเร็จในการทำงานและมีสถานะเป็นเจ้าของกิจการทั้งการพาณิชย์และการผลิต

บทที่ 5 From Separation to Exclusion – Political Spaces and the Transformation of Gender in Early Modern and Modern Time ย้อนกลับมาที่ประเด็นเพศสภาพในพื้นที่ทางการเมืองอีกครั้ง บทนี้อธิบายบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่ทางการเมืองระดับสูงที่เกิดขึ้นภายในป้อมปราสาทเมืองเอโดะของโชกุนและคฤหาสน์ของเจ้าครองแคว้น (ไดเมียว) คำอธิบายแบบเดิมมักกล่าวว่าผู้หญิงถูกจำกัดบทบาทไว้ในพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการแบ่งพื้นที่ภายในปราสาทและคฤหาสน์ออกเป็น omote / ฝ่ายหน้า หรือ พื้นที่สาธารณะ กับ oku / ฝ่ายใน หรือ พื้นที่ส่วนตัว แต่งานวิจัยที่ทำขึ้นในระยะหลังเผยให้เห็นการเมืองในชีวิตประจำวันของโชกุนและเจ้าผู้ครองแคว้นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ฝ่ายใน บรรดาภรรยาของโชกุนและเจ้าผู้ครองแคว้นตลอดจนนางกำนัลที่รับใข้อยู่ภายในต่างมีบทบาทสำคัญทางการเมือง อย่างไรก็ตามบทบาทเหล่านี้ถูกกีดกันออกไปจากประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของญี่ปุ่นภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญเมจิ (ค.ศ.1889) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บทบาททางการเมืองระดับสูงของผู้หญิงหายไป

สำหรับ บทที่ 6 Sex Trade and Society เป็นบทที่มีเนื้อหาเป็นเอกเทศอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นบทเดียวที่ศึกษาเพศสภาพผ่านกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ อันที่จริงแล้วเนื้อหาของบทนี้อาจจัดรวมกับบทที่ 4  ซึ่งอธิบายเพศสภาพผ่านการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนได้ แต่เนื่องจากการขายบริการทางเพศเป็นกิจกรรมที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขเพศสภาพและลักษณะทางสังคมแต่ละยุคสมัย ตลอดจนมีงานวิจัยและข้อมูลมากมายที่ช่วยทำให้เราได้ยินเสียงของผู้หญิงในอดีตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกมองว่าเป็นย่านอโคจร ประกอบกับการมีภาพจำและความเข้าใจของสังคมวงกว้างที่คลาดเคลื่อนจากคำอธิบายทางวิชาการอยู่มาก ด้วยเหตุผลเหล่านี้การขายบริการทางเพศจึงแยกออกมาเป็นหนึ่งบท เนื้อหาของบทนี้เริ่มจากการตั้งคำถามกับคำกล่าวที่คุ้นหูในสังคมญี่ปุ่นที่ว่า “การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้หญิง” หนังสือนี้อธิบายว่าอันที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น การขายบริการทางเพศอย่างเป็นอาชีพในสังคมญี่ปุ่นเกิดขึ้นในยุคกลางช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 9 เฉพาะในกลุ่มครอบครัวที่ให้บริการด้านความบันเทิงและการบริการทางเพศโดยเฉพาะ กระทั่งเข้าสู่สมัยใหม่ช่วงต้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 15 ต่อศตวรรษที่ 16 ที่รัฐบาลโชกุนอนุญาตให้ตั้งซ่องโสเภณีได้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเกิดปรากฏการณ์การบังคับหรือลักพาตัวผู้หญิงมาขายให้เจ้าของซ่อง นิทรรศการได้รวบรวมบันทึกส่วนตัวและจดหมายของหญิงขายบริการซึ่งสะท้อนให้เห็นการแบ่งเพศ เพศวิถี และสถานะของชายหญิงในกลุ่มสังคมย่อยที่มีการต่อรองในประเด็นเพศสภาพอย่างเข้มข้น

บทที่ 7 Gender in Daily Life and Work – From Modern to Contemporary Japan ซึ่งเป็นส่วนท้ายสุดของนิทรรศการได้กล่าวถึงกระบวนการเข้าสู่สมัยของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19 ที่ผลักผู้หญิงให้พ้นจากบทบาทที่สำคัญในพื้นที่ต่างๆ และแม้ว่าผู้หญิงยังมีบทบาทอยู่มาก แต่กลับถูกทำให้มองไม่เห็นด้วยการกีดกันทางเพศผ่านกระบวนการการสอบคัดเลือก หนังสือเล่มนี้เพ่งพินิจและชี้ชวนให้ผู้อ่านลองทบทวนดูว่าระบบการทำงานสมัยใหม่ได้กลายเป็นกลไกที่ทำให้ผู้หญิงถูกเรียกร้องให้แสดง “ความเป็นผู้หญิง (femininity)” ในอาชีพเฉพาะทางอย่างไร

บทสรุปเนื้อหาที่อธิบายมาทั้งหมดข้างต้นแม้จะยืดยาวและค่อนข้างหนักสำหรับผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นกับการอ่านหนังสือวิชาการ หรือ นักวิชาการที่ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แต่อย่างที่ระบุประเภทของหนังสือไว้ในส่วนต้นว่าเป็น หนังสือวิชาการ ความหนักจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกินความคาดหมายนัก ในวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยเองก็มีการผลิตงานวิจัยในประเด็นเพศสภาพอยู่พอสมควรโดยเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษ 1990 คล้ายกับวงวิชาการของญี่ปุ่น หากจะมีการผลิตหนังสือหรือนิทรรศการที่เล่าประวัติศาสตร์ไทยภาพรวมผ่านกรอบการอธิบายเรื่องเพศสภาพอย่างหนังสือ Gender in Japanese History ก็น่าจะพอเป็นไปได้ งานนิทรรศการซึ่งเป็นการสื่อสารวิชาการประวัติศาสตร์ที่เน้นกลุ่มผู้ชมในสังคมวงกว้างนั้นจำเป็นจะต้องแปรรูปความเป็นวิชาการให้ย่อยง่ายสำหรับผู้ชมทั่วไป ผู้แนะนำเห็นว่าการเริ่มต้นจากการสังเคราะห์คำอธิบายที่มาจากงานวิจัยที่เน้นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่หลากหลายอย่างที่หนังสือ Gender in Japanese History ทำไว้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแบบหนึ่ง

 

 

Exhibition

Gender in Japanese History, Special Exhibition Galleries, National Museum of Japanese History, October 6 – December 6, 2020.

แนะนำโดย นิภาพร รัชตพัฒนากุล 

เผยแพร่เมื่อ 17 พฤษภาคม 2566

ช่วงตุลาคมถึงธันวาคม ปี 2020 National Museum of Japanese History (国立歴史民族博物館) ที่จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดนิทรรศการพิเศษหัวข้อ Gender in Japanese History นิทรรศการนี้ปรับปรุงมาจากงานวิจัยพื้นฐานเรื่อง Gendering the History of the Japanese Archipelago ทำขึ้นระหว่างปี 2016-2018 ซึ่งมี ศาสตราจารย์ Yokoyama Yuriko เป็นหัวหน้าคณะวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการสร้างเพศสภาพ (gender) ในหมู่เกาะญี่ปุ่นด้วยวิธีการอธิบายแบบประวัติศาสตร์ โดยในนิทรรศการได้จัดแสดงวัตถุกว่า 280 ชิ้น เพื่ออธิบายความหมายของเพศสภาพตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของความหมายตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของสังคมญี่ปุ่น

เนื้อหาของนิทรรศการเป็นการเล่าภาพรวมประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงร่วมสมัยผ่านมุมมองเพศสภาพ โดยแบ่งยุคสมัยเป็นสังคมญี่ปุ่นสมัยจารีต (Classical Japanese Society) ญี่ปุ่นยุคกลาง (Medieval Japan) สมัยใหม่ช่วงต้น (Early Modern) สมัยใหม่ (Modern) และ ร่วมสมัย (Contemporary) ส่วนประเด็นในแต่ละช่วงเวลานั้นกระจายกันไปทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม โดยอธิบายผ่านพื้นที่ทางการเมือง กิจกรรมเกี่ยวกับการทำงานและการใช้ชีวิต

แม้นิทรรศการจะจัดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งทำให้การเดินทางเต็มไปด้วยข้อจำกัด และผู้แนะนำเองก็ไม่มีโอกาสได้ชมนิทรรศการนี้ด้วยตนเอง แต่ยังสามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบ Audio Guide ในว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ ผู้ชมสามารถรับฟังเสียงบรรยายประเด็นหลัก (มีเฉพาะภาษาญี่ปุ่น) ของหัวข้อจัดแสดงทั้ง 7 ซึ่งแยกออกเป็น 35 หัวข้อย่อย โดยเสียงบรรยายแต่ละหัวข้อมีความยาวระหว่าง 1-5 นาที รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 100 นาที นอกจากนั้นยังมีภาพวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการจำนวนหนึ่งที่นำมาลงไว้ ที่แปลกตาน่าสนใจก็เช่น ภาพตุ๊กตา Haniwa (ภาพที่ 1 จากซ้าย) ใช้อธิบายเพศสภาพในราชสำนักสมัยจารีต ภาพพระโพธิสัตว์ไม้แกะสลัก ค.ศ.1334 (ภาพที่ 2 จากซ้าย) จากสมัยกลางซึ่งพบภาพพิมพ์รูปพระโพธิสัตว์ที่ด้านหลังเขียนคำอธิษฐานและชื่อผู้อธิษฐาน พร้อมทั้งปอยผมของหญิงผู้อธิษฐานจำนวนมากบรรจุอยู่ภายใน ภาพจำลองห้องพักของเกอิชา (ภาพที่ 3 จากซ้าย) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จัดแสดงอุปกรณ์ทำความสะอาดภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อวางอยู่กลางห้อง ตลอดจนโปสเตอร์ปลุกใจให้ผู้หญิงออกมาเป็นแรงงานสร้างชาติในช่วงระหว่างสงคราม (ภาพที่ 4 จากซ้าย) นอกจากนั้นพิพิธภัณฑ์ยังได้จัดพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่อเนื่องจากนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ซึ่งผู้เขียนจะได้แนะนำในโอกาสต่อไป

 

 ภาพจาก เว็บไซต์ tokyoartbeat และ 新婦人の会

Page 1 of 6