NONFICTION
The Sakura Obsession โดย Naoko Abe. Vintage Books. New York, 2020, 380 หน้า
แนะนำโดย นิภาพร รัชตพัฒนากุล
เผยแพร่เมื่อ 16 สิงหาคม 2564
The Sakura Obsession (2020) โดย Naoko Abe สารคดีชีวประวัติของ Collingwood Ingram คหบดีชาวอังกฤษที่หลงใหลในเสน่ห์ของซากุระ แปลมาจากหนังสือภาษาญี่ปุ่นเรื่อง チェリー・イングラム――日本の桜を救ったイギリス人 หรือ ‘Cherry’ Ingram: The English Saviour of Japan’s Cherry Blossoms (2016) ของสำนักพิมพ์อิวะมิ โดยฉบับพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นได้รับรางวัล Japan Essayist Club Award ปี 2016
Collingwood Ingram (ค.ศ.1880-1981) เป็นหลานของผู้ก่อตั้ง Illustrated London News นิตยสารเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ ในวัยหนุ่มอินแกรมใช้เวลาไปกับงานอดิเรกคือการดูนก ต่อเมื่อภายหลังเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 อินแกรมในวัยกลางคนจึงเปลี่ยนความสนใจจากนกมาเป็นซากุระ โดยสร้างสวนซากุระขึ้นภายใน The Grange บ้านพักของเขาใน Benenden ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน เพื่อใช้เป็นสถานที่รวบรวมซากุระพันธุ์หายากและผสมซากุระพันธุ์ใหม่ โดยเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมปีละครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 1920 เนื่องจากอินแกรมมีอายุยืนถึง 100 ปี ทำให้การเล่าชีวประวัติของเขาที่เชื่อมโยงกับความหลงใหลในซากุระนั้นสะท้อนภาพของซากุระในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่ไปพร้อมกันด้วย
Naoko Abe แบ่งเรื่องเล่าออกเป็น 55 ตอน โดยเรียงลำดับไปตามช่วงชีวิตของอินแกรมตั้งแต่วัยเด็กที่ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน กำลังเป็นที่ฮือฮา และเขายังสามารถเฝ้ามองธรรมชาติเหล่านั้นได้ที่บ้านพักตากอากาศที่ Westgate-on-Sea เมืองตากอากาศริมทะเลที่ยังไม่ประสบปัญหามลพิษแบบลอนดอน วัยหนุ่มของเขาสะท้อนวิถีชีวิตของลูกหลานคหบดีอังกฤษที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานอดิเรก ซึ่งการตามล่าหาพันธุ์พืชและสัตว์ตามดินแดนบุกเบิกใหม่ทั่วโลก เพื่อชื่นชมความงามของธรรมชาติไปพร้อมกับการแสดงความรู้ตามแนววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในงานอดิเรกและการเข้าสมาคมซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น ในช่วงชีวิตนี้เองที่อินแกรมเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี 1902 และครั้งที่ 2 ปี 1907 โดยครั้งที่สองมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลพันธุ์นกโดยเฉพาะ
ความสนใจเรื่องนกของอินแกรมลดน้อยลงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 Naoko Abe มองว่าอาจเกิดจากวิกฤตวัยกลางคนที่อินแกรมต้องการสร้างตัวตนให้เป็นที่ยอมรับนับถือทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง เขาจึงเริ่มมองหาความสนใจใหม่โดยมุ่งไปที่พืชที่ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญในสังคมอังกฤษ ประจวบกับการซื้อ The Grange ต่อจากนักธุรกิจเหล็กและอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่ใหม่ของครอบครัว เจ้าของเดิมปลูกซากุระหรือ Cherry blossom / Japanese cherry ต้นเชอร์รี่ชนิดที่ปลูกสำหรับประดับตกแต่งแต่ไม่มีผลให้เก็บกินไว้ในสวน และซากุระสองต้นนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญซากุระ
อินแกรมหาความรู้เกี่ยวกับซากุระโดยเริ่มจากการเดินทางไปเยี่ยมชมสวนของคหบดีอังกฤษที่นิยมซากุระมาก่อนซึ่งในตอนนั้นยังมีไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือสวนที่ East Sussex ของภรรยาทนายความที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ด้วยความหลงใหลในเสน่ห์ของซากุระเธอได้ขอให้เพื่อนชาวฝรั่งเศสเป็นธุระจัดหาซากุระพันธุ์หายากจากเอเชียเพื่อนำมาปลูกไว้ในสวนตั้งแต่ปี 1899 เมื่ออินแกรมเดินทางไปเยี่ยมชมในปี 1923 ก็ได้นำซากุระ 4 พันธุ์ที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษกลับไปปลูกด้วย หนึ่งในนั้นคือซากุระสีขาวดอกใหญ่กว่าที่พบเห็นได้ทั่วไปซึ่งยังไม่มีชื่อเรียก กระทั่งสหายเชื้อพระวงศ์ชาวญี่ปุ่นของอินแกรมเห็นเข้าจึงตั้งชื่อให้ว่า Taihaku โดยที่ทั้งคู่ไม่รู้ว่าเป็นพันธุ์ที่ไม่มีผู้พบเห็นมานานแล้วในญี่ปุ่น
อินแกรมเดินทางไปญี่ปุ่นอีกครั้งในปี 1926 เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมพันธุ์ซากุระตลอดจนสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญซากุระชาวญี่ปุ่น Naoko Abe ให้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของสถานที่และผู้คนที่อินแกรมเดินทางไปเยี่ยมชมและพบเจอไว้โดยตลอด จนทำให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของซากุระในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างชัดเจน สังคมญี่ปุ่นได้สร้างวัฒนธรรมและความสุนทรีเกี่ยวกับซากุระมากว่า 1200 ปี จากซากุระป่าตามธรรมชาติ 10 สายพันธุ์ จนปัจจุบันมีซากุระกว่า 400 พันธุ์ที่เกิดจากการผสมของมนุษย์ เทศกาลชมดอกไม้หรือ ฮะนะมิ เกิดขึ้นครั้งแรกภายในพระราชวังของจักรพรรดิเมื่อปี ค.ศ.812 ซากุระสายพันธุ์ที่นิยมในแต่ละสมัยก็แตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่ Edo-higan ที่มีบันทึกว่าเป็นซากุระป่าสายพันธุ์แรกที่ชาวญี่ปุ่นเริ่มเอามาเพาะเลี้ยง หรือ Yama-zakura สายพันธุ์ซึ่งปลูกบนเขาโยชิโนะซึ่งเป็นจุดชมซากุระที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และเป็นพันธุ์ที่โชกุนสั่งให้ปลูกในพื้นที่สาธารณะของเมืองเอโดะ (โตเกียว)
Naoko Abe บรรยายถึงวิวัฒนาการที่สำคัญของวัฒนธรรมซากุระว่าเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นปกครองและซามุไรในช่วงปิดประเทศระหว่าง ค.ศ.1639-1853 เนื่องจากระบบที่ไดเมียวตระกูลต่างๆ ต้องเข้าเฝ้าโชกุนเป็นประจำ โดยช่วงเวลาที่ไม่ได้เข้าเฝ้าจะต้องให้ภรรยาหรือลูกอาศัยอยู่ที่เมืองเอโดะเพื่อเป็นหลักประกันความจงรักภักดี ไดเมียวแต่ละตระกูลจึงต้องสร้างบ้านพักของตนที่เอโดะ บ้านพักเหล่านี้จะมีสวนซึ่งมักปลูกซากุระสายพันธุ์ท้องถิ่น แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยภูเขาทำให้มีสภาพอากาศย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ไล่ระดับไปตามความสูงของภูมิประเทศ ซึ่งมีผลต่อลักษณะและการอยู่รอดของซากุระ ดังนั้นซากุระหลากหลายสายพันธุ์ตามธรรมชาติในท้องถิ่นที่ถูกเคลื่อนย้ายมายังเอโดะจึงต้องถูกดัดแปลงให้เติบโตได้ในสภาพอากาศที่ต่างออกไป อันเป็นที่มาของการเกิดพันธุ์ใหม่จำนวนมากในช่วงเวลากว่าสองศตวรรษนี้
ความหลากหลายนี้เริ่มลดน้อยลงไปเมื่ออินแกรมเดินทางไปสำรวจที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 1926 ซากุระที่พบในญี่ปุ่นในขณะนั้น (จนกระทั่งปัจจุบัน) ส่วนใหญ่คือพันธุ์ Somei-yoshino ซึ่งปลูกง่ายโตเร็ว รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ปลูกอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากญี่ปุ่นสามารถเอาชนะรัสเซียในสงครามปี 1905 มีการสั่งให้ปลูกซากุระพันธุ์นี้กระจายไปทั่วประเทศ การขยายตัวของ Somei-yoshino เกิดขึ้นพร้อมไปกับการพัฒนาความหมายของซากุระให้บ่งบอกถึงการเสียสละชีวิตของทหารและความพร้อมเพรียงของประชาชน อินแกรมสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ และพยายามรักษาความหลากหลายของซากุระเอาไว้ เขาเพาะพันธุ์ซากุระหลายชนิดไว้ในสวนที่ The Grange โดยได้พันธุ์มาจากแหล่งต่างๆ แหล่งสำคัญคือบริษัทอังกฤษและญี่ปุ่นซึ่งเริ่มนำซากุระเข้าไปจำหน่ายในอังกฤษบ้างแล้ว เช่น บริษัท Yokohama Nursery ส่วนพันธุ์หายากนั้นเขาจะอาศัยความช่วยเหลือจากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญซากุระชาวญี่ปุ่นที่ได้ผูกมิตรไว้เมื่อครั้งเดินทางไปสำรวจในปี 1926 การจัดส่งทางเรือในช่วงแรกทำให้ซากุระที่ไปถึงมืออินแกรมมีสภาพไม่สมบูรณ์ เพราะใช้เวลาเดินทางหลายสัปดาห์ผ่านดินแดนที่มีภูมิอากาศร้อน จึงเปลี่ยนเป็นส่งทางรถไฟสายทรานส์ ไซบีเรียซึ่งวิ่งผ่านพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นช่วยยืดอายุหน่อซากุระออกไปได้
นอกจากนั้นอินแกรมยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ซากุระพันธุ์ Taihaku ได้กลับคืนสู่ญี่ปุ่นอีกครั้ง ความบังเอิญนี้เกิดขึ้นระหว่างที่เขาเดินทางไปสำรวจซากุระในปี 1926 ในครั้งนั้นเขาได้พบกับ Seisaku Funatsu ผู้เชี่ยวชาญซากุระที่นำภาพวาดซากุระสมบัติของตระกูลออกมาให้ดู หนึ่งในนั้นเป็นภาพซากุระที่พบในเกียวโตที่ทวดของเขาวาดไว้เมื่อ 130 ปีก่อน แต่ตัวเขาเองไม่เคยเห็นของจริง เมื่ออินแกรมเห็นภาพแล้วก็จำได้ว่าลักษณะเหมือนกับ Taihaku ที่ปลูกอยู่ในสวนของตนเองที่อังกฤษ จึงนำมาสู่เหตุการณ์การส่งซากุระจากสวนของอินแกรมไปยังญี่ปุ่นซึ่งหน่อทั้งหมดปลูกอยู่ในเกียวโตภายใต้การดูแลของตระกูลผู้เชี่ยวชาญซากุระ โชคดีที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1930 ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและญี่ปุ่นจะเลวร้ายลงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น
ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อินแกรมในวัยชรายังคงใช้ชีวิตอยู่ที่ The Grange แม้ตัวเขาเองจะไม่ได้เผชิญกับประสบการณ์เลวร้ายในช่วงระหว่างสงคราม แต่คนใกล้ตัวรวมทั้งชาวอังกฤษจำนวนมากเคยเป็นอดีตเชลยสงครามในค่ายทหารของญี่ปุ่นในเอเชีย Naoko Abe คาดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้หลังสิ้นสุดสงคราม อินแกรมเลือกที่จะปฏิสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับซากุระอย่างจำกัด จนกระทั่งทศวรรษ 1950 ความเชี่ยวชาญด้านซากุระของอินแกรมซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการผู้เชี่ยวชาญด้านพืชและสวน (horticulturist) นักล่าพันธุ์พืช (plant hunter) จึงแพร่หลายมากขึ้น เมื่อซากุระกลายเป็นหนึ่งในไม้สวนยอดนิยมของชาวอังกฤษ ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ริมถนนไปจนถึง Windsor Great Park สวนสวยที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ของราชวงศ์
เรื่องราวของอินแกรมใน The Sakura Obsession เป็นตัวอย่างที่ดีของการวางโครงเรื่องโดยนำชีวประวัติของบุคคลกลับเข้าไปอยู่ในภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลก บันทึกส่วนตัวและข้อมูลสัมภาษณ์ช่วยให้งานมีชีวิตชีวาและสะท้อนมิติอารมณ์ความรู้สึกของคนที่เกี่ยวข้องได้ในแบบที่การเขียนแบบวิชาการทำไม่ได้ บรรยากาศรวมของหนังสือถูกจัดไว้โดยไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีไม่ให้ขมหรือหวานจนเกินไป โดยครึ่งเล่มแรกปูพื้นมาตลอดด้วยโลกธรรมชาติที่สวยงามกับชีวิตที่หรูหราของคหบดีอังกฤษ ตามมาด้วยครึ่งหลังของหนังสือที่เนื้อหาชวนหดหู่ด้วยชีวิตของผู้คนในช่วงสงคราม แต่ภาพวาดตลอดจนภาพถ่ายซากุระฝีมืออินแกรมก็ช่วยให้หนังสือกลับมาละมุนละไมได้อีกครั้งในช่วงท้าย หนังสือ Nonfiction ลักษณะนี้มีอยู่มากมายในโลกภาษาอังกฤษและอีกหลายภาษาทั่วโลก เป็นรูปแบบการเขียนอีกแนวที่ยังมีอยู่น้อยมากในโลกหนังสือภาษาไทย (ไม่รวมหนังสือแปลจากภาษาต่างประเทศ) หากผู้สนใจประวัติศาสตร์ค้นคว้าและเรียบเรียงหนังสือแนวนี้มากขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมผู้อ่านวงกว้าง