แนะนำหนังสือ Gender in Japanese History

Academic Book

性差の日本史  โดย 国立歴史民族博物館, 2020, 314 หน้า และ 新書版 性差の日本史  โดย 国立歴史民族博物館, 2021, 221 หน้า

แนะนำโดย นิภาพร รัชตพัฒนากุล

เผยแพร่เมื่อ 19 พฤษภาคม 2566

 

เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษารวมทั้งมิตรสหายชาวญี่ปุ่นทราบว่าผู้เขียนจะสอนวิชาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็ได้แนะนำรวมทั้งกรุณามอบหนังสือภาษาญี่ปุ่นมาหลายเล่ม เล่มที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษและหยิบขึ้นมาอ่านเพื่อใช้ในการบรรยายเป็นเล่มแรก คือ 性差の日本史  หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Gender in Japanese History แม้จะยังอ่านไม่จบ แต่ด้วยความตื่นตาตื่นใจกับเนื้อหาและภาพประกอบจึงนำเนื้อหาบางส่วนบรรยายในชั้นเรียนบ้างแล้ว และประเมินไปโดยลำพังว่าเนื้อหาและภาพประกอบช่างสนุกสนานน่าสนใจ  ความชื่นชอบทำให้หยิบหนังสือมาพลิกดูอยู่หลายครั้งและอยากจะแนะนำให้ผู้อื่นได้รู้จักด้วย แต่เนื่องจากเป็นหนังสือภาษาญี่ปุ่นและยังไม่มีฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่ทำให้ลังเลใจอยู่นาน จนสุดท้ายเห็นว่าแม้หนังสือยังเข้าถึงได้ไม่สะดวกนักสำหรับนักอ่านชาวไทย แต่การแนะนำเนื้อหาน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจประเด็นเพศสภาพ (gender) ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอยู่บ้าง

Gender in Japanese History เป็นหนังสือขนาดใหญ่พิมพ์กระดาษอาร์ตมันสีสี่ทั้งเล่มทำขึ้นเพื่อประกอบการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษในหัวข้อเดียวกับชื่อหนังสือของ National Museum of Japanese History (国立歴史民族博物館) จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2020 แม้ผู้เขียนไม่มีโอกาสชมนิทรรศการ เนื่องจากปลายปี 2020 อยู่ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ด้วยความเมตตาของอาจารย์ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นที่กรุณาส่งหนังสือน้ำหนักกว่าหนึ่งกิโลกรัมมาให้ทางไปรษณีย์ทำให้ความรู้ดีๆ เล่มนี้มาถึงมือผู้เขียนในเวลาไม่นานหลังวางแผงจำหน่าย จึงขอขอบพระคุณ ณ ที่นี้อีกครั้ง และต้องขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนได้รับหนังสือเรื่องเดียวกันที่ปรับปรุงเนื้อหาใหม่เพื่อเผยแพร่ในรูปแบบฉบับพกพาปกอ่อน เนื่องจากนิทรรศการพิเศษนี้ได้เสียงตอบรับที่ดีมากทำให้พิพิธภัณฑ์จัดพิมพ์ฉบับพกพาในปี 2021 โดยมีเนื้อหาหลักครบถ้วนเหมือนเล่มปี 2020 แต่ตัดภาพและคำอธิบายภาพออก แม้ฉบับพกพายังคงมีภาพประกอบที่น่าสนใจหลายรูปแต่พิมพ์เป็นภาพขาวดำทั้งหมด

นิทรรศการพิเศษที่ถ่ายทอดเนื้อหาผ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ปรับปรุงมาจากโครงการวิจัยพื้นฐานเรื่อง Gendering the History of the Japanese Archipelago ทำขึ้นระหว่างปี 2016-2018 มี ศาสตราจารย์ Yokoyama Yuriko เป็นหัวหน้า โดยรวบรวมและสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัยสาขาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นเพศสภาพในญี่ปุ่นที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ถึงปัจจุบัน แวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ในระดับสากลเริ่มให้ความสนใจต่อประเด็นเพศสภาพตั้งแต่ทศวรรษ 1980 อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 กระแสดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวงวิชาการประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจนทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์เพศสภาพในสังคมญี่ปุ่นเริ่มแพร่หลายมากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990 อันเป็นจุดเริ่มต้นของงานศึกษาจำนวนมากที่กลายมาเป็นพื้นฐานให้กับการสร้างคำอธิบายภาพรวมประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นผ่านมุมมองเพศภาพของโครงการวิจัยและนิทรรศการพิเศษนี้

หนังสือฉบับสี่สีปี 2020 และ ฉบับพกพาปี 2021 นำผู้อ่านเข้าสู่โลกของประวัติศาสตร์ด้วยการชี้ชวนให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ ที่สังคมญี่ปุ่นรู้จักนั้นเป็นปรากฏการณ์เพียงน้อยนิดที่ถูกบันทึกและเหลือรอดมาให้สังคมรุ่นหลังรับรู้ คำว่า 歴史 / reki-shi หรือ ประวัติศาสตร์ ในภาษาญี่ปุ่นเองก็สะท้อนนัยดังกล่าว คำว่า ประวัติศาสตร์ ในภาษาญี่ปุ่นประกอบไปด้วย / reki ซึ่งมีนัยถึงปรากฏการณ์ในอดีตมากมายนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นและจางหายไป และมีปรากฏการณ์จำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกบันทึกไว้ในรูปของลายลักษณ์อักษรหรือ / shi แม้เรื่องราวของผู้หญิงจะปรากฏอยู่อย่างมากมายตลอดเวลาอันยาวนานของหมู่เกาะญี่ปุ่น แต่มีเพียงเศษเสี้ยวที่ได้รับการจดจำและถ่ายทอด คณะวิจัยเพื่อจัดทำนิทรรศการพิเศษจึงพยายามนำตัวตนและเรื่องราวของผู้หญิงที่จางหายไปในกาลเวลากลับมาให้คนในสังคมปัจจุบันได้รับรู้อีกครั้ง โดยมีคำถามวิจัยข้อแรกที่ว่าการแบ่งแยกระหว่างชายและหญิงในสังคมหมู่เกาะญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร และวัตถุประสงค์ของการแบ่งแยกตลอดจนสำนึกที่เกิดขึ้นจาการแบ่งแยกเพศนั้นเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาอย่างไร ข้อที่สอง ภายใต้โครงสร้างของเพศสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลานั้นผู้คนดำรงชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่ภายใต้โครงสร้างของเพศสภาพในแต่ละช่วงเวลารับมือกับเงื่อนไขนั้นอย่างไร นิทรรศการนี้ต้องการเพ่งพินิจประสบการณ์และเสียงของผู้หญิงอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้วิเคราะห์โครงสร้างตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเพศสภาพในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างรอบคอบ

เนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็นสามหัวข้อหลักกระจายออกเป็น 7 บท หัวข้อแรก คือ ชายหญิงในพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีเนื้อที่มากที่สุดกระจายอยู่ในบทที่ 1 บทที่ 2 บทที่ 3 บทที่ 5 และ บทที่ 7 หัวข้อที่สอง เพศสภาพในการทำงานและการใช้ชีวิต คำอธิบายเรื่องนี้กระจายอยู่ในบทที่ 3 บทที่ 4 และ บทที่ 7 ส่วนหัวข้อที่สาม การขายบริการทางเพศและสังคม ปรากฏอยู่อย่างเป็นเอกภาพในบทที่ 6 ฉบับสี่สีปี 2020 ได้สรุปย่อใจความหลักของแต่ละบทเป็นภาษาอังกฤษไว้ท้ายเล่ม ผู้เขียนจึงขอแนะนำตามบทคัดย่อผสมกับเนื้อหาภาษาญี่ปุ่นที่ปรากฏในตัวเล่มเพื่อความชัดเจน

แม้คณะผู้จัดทำหนังสือและนิทรรศการจะพยายามจัดแบ่งเนื้อหาตามประเด็นเพศสภาพแต่ด้วยระเบียบวิธีการวิจัยที่ยึดกรอบการอธิบายแบบประวัติศาสตร์เป็นหลักทำให้การจัดเรียงเนื้อหายังคงให้ความสำคัญกับการอธิบายตามลำดับเวลามากที่สุด เนื้อหาทั้ง 7 บทจึงไล่เรียงจากยุคโบราณมาจนถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เริ่มจาก บทที่ 1 Gender in Classical Japanese Society ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การแบ่งเพศเริ่มปรากฏในกลุ่มผู้ปกครอง เนื้อหาในบทนี้เน้นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของรัฐและการเมือง เพื่ออธิบายจุดเปลี่ยนที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นสมัยโบราณเปลี่ยนจากสังคมที่ไม่มีการแบ่งเพศมาสู่สังคมที่เริ่มมีการแบ่งเพศโดยเริ่มจากกลุ่มผู้ปกครอง โดยแต่เดิมนั้นการแบ่งหน้าที่ระหว่างหญิงชายในสังคมญี่ปุ่นสมัยโบราณไม่มีความชัดเจน ผู้คนทำงานกันเป็นกลุ่ม ส่งผลผลิตเป็นส่วยให้ผู้ปกครองและต่างมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรมซึ่งเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจที่สำคัญของผู้ปกครองในสมัยจารีต ข้อมูลโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าสังคมโบราณหลายแห่งมีผู้นำชุมชนเป็นผู้หญิง กระทั่งเข้าสู่ปลายศตวรรษที่ 7 การแบ่งแยกบทบาทระหว่างหญิงชายจึงชัดเจนมากขึ้นโดยเริ่มจากกลุ่มผู้ปกครองก่อน กระทั่งเกิดรัฐจารีต (ritsuryo state) แล้ววิถีปฏิบัตินี้จึงขยายไปสู่สังคมวงกว้าง แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ยังพบว่าชายหญิงยังคงมีบทบาทร่วมกันในพื้นที่ทางการเมืองในชุมชนท้องถิ่น เมื่อเข้าสู่ยุคกลางราวศตวรรษที่ 10 และสมัยใหม่ช่วงต้นการแบ่งแยกบทบาททางเพศจึงปรากฏอยู่ในครอบครัวสามัญ

แม้การเกิดรัฐจารีตจะทำให้การแบ่งบทบาททางเพศในกิจกรรมทางการเมืองชัดเจนยิ่งขึ้นจนทำให้บทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้นำจางหายไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงไม่มีบทบาทในการเมืองระดับสูงเลย บทที่ 2 Politics and Gender in Medieval Japan อธิบายประเด็นนี้ผ่านบทบาทของ nyobo / เนียวโบ / 女房  สตรีอาวุโสที่ทำหน้าที่ดูแลระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างคนในตระกูลของตนเองและระหว่างตระกูลในสังคมชนชั้นสูงของญี่ปุ่นยุคกลาง โดยเฉพาะช่วง Muromachi (ค.ศ.1338-1573) และ Sengoku (ค.ศ.1454-1573) โดยทำหน้าที่บริหารจัดการอำนาจทั้งการเมืองและเศรษฐกิจในตระกูลซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐบาลนักรบตลอดจนราชสำนัก บทบาทเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากการที่สมาชิกคนสำคัญในรัฐบาลนักรบและราชสำนักให้ความสำคัญต่อจดหมายส่วนตัวแสดงความต้องการทางการเมืองของเนียวโบในตระกูลของตนเองในฐานะเอกสารราชการ

ส่วนการทำความเข้าใจพื้นที่ทางการเมืองของครอบครัวนอกแวดวงสังคมชนชั้นสูงในยุคกลางนั้นสามารถอธิบายผ่านกิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัวและศาสนา บทที่ 3 Medieval Household and Religion บอกเล่าสังคมญี่ปุ่นยุคกลางซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามต่อเนื่องยาวนานหลายร้อยปีทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของหญิงม่ายที่สามีเสียชีวิตในสนามรบว่าเป็นผู้ดูแลลูกและบริหารจัดการสมบัติของครอบครัวสามี ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตระกูลฝั่งสามี หญิงม่ายจำนวนมากสมัครใจใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยการอุทิศตนให้กับศาสนาและกลายเป็นนักบวชที่มีบทบาทสำคัญในสังคม หลังจากทำความเข้าใจประเด็นเพศสภาพในพื้นที่ทางการเมืองมาสามบทต่อเนื่องแล้ว บทที่ 4 Gender in Work and Life – From Medieval to Early Modern Times พาผู้อ่านมาสู่การอธิบายเพศสภาพผ่านการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงยุคกลางต่อสมัยใหม่ช่วงต้น ช่วงนี้เป็นเวลาที่เริ่มเกิดภาพจำเกี่ยวกับอาชีพที่แบ่งเป็นอาชีพของผู้ชายและอาชีพของผู้หญิง โดยหนังสือแสดงให้เห็นผ่านการนำเสนอลักษณะการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศที่พบในอาชีพต่างๆ เช่น ชาวนาปลูกข้าว ช่างทำผม ช่างฝีมือ นอกจากนั้นยังนำเสนอหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงจำนวนมากประสบความสำเร็จในการทำงานและมีสถานะเป็นเจ้าของกิจการทั้งการพาณิชย์และการผลิต

บทที่ 5 From Separation to Exclusion – Political Spaces and the Transformation of Gender in Early Modern and Modern Time ย้อนกลับมาที่ประเด็นเพศสภาพในพื้นที่ทางการเมืองอีกครั้ง บทนี้อธิบายบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่ทางการเมืองระดับสูงที่เกิดขึ้นภายในป้อมปราสาทเมืองเอโดะของโชกุนและคฤหาสน์ของเจ้าครองแคว้น (ไดเมียว) คำอธิบายแบบเดิมมักกล่าวว่าผู้หญิงถูกจำกัดบทบาทไว้ในพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการแบ่งพื้นที่ภายในปราสาทและคฤหาสน์ออกเป็น omote / ฝ่ายหน้า หรือ พื้นที่สาธารณะ กับ oku / ฝ่ายใน หรือ พื้นที่ส่วนตัว แต่งานวิจัยที่ทำขึ้นในระยะหลังเผยให้เห็นการเมืองในชีวิตประจำวันของโชกุนและเจ้าผู้ครองแคว้นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ฝ่ายใน บรรดาภรรยาของโชกุนและเจ้าผู้ครองแคว้นตลอดจนนางกำนัลที่รับใข้อยู่ภายในต่างมีบทบาทสำคัญทางการเมือง อย่างไรก็ตามบทบาทเหล่านี้ถูกกีดกันออกไปจากประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของญี่ปุ่นภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญเมจิ (ค.ศ.1889) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บทบาททางการเมืองระดับสูงของผู้หญิงหายไป

สำหรับ บทที่ 6 Sex Trade and Society เป็นบทที่มีเนื้อหาเป็นเอกเทศอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นบทเดียวที่ศึกษาเพศสภาพผ่านกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ อันที่จริงแล้วเนื้อหาของบทนี้อาจจัดรวมกับบทที่ 4  ซึ่งอธิบายเพศสภาพผ่านการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนได้ แต่เนื่องจากการขายบริการทางเพศเป็นกิจกรรมที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขเพศสภาพและลักษณะทางสังคมแต่ละยุคสมัย ตลอดจนมีงานวิจัยและข้อมูลมากมายที่ช่วยทำให้เราได้ยินเสียงของผู้หญิงในอดีตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกมองว่าเป็นย่านอโคจร ประกอบกับการมีภาพจำและความเข้าใจของสังคมวงกว้างที่คลาดเคลื่อนจากคำอธิบายทางวิชาการอยู่มาก ด้วยเหตุผลเหล่านี้การขายบริการทางเพศจึงแยกออกมาเป็นหนึ่งบท เนื้อหาของบทนี้เริ่มจากการตั้งคำถามกับคำกล่าวที่คุ้นหูในสังคมญี่ปุ่นที่ว่า “การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของผู้หญิง” หนังสือนี้อธิบายว่าอันที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น การขายบริการทางเพศอย่างเป็นอาชีพในสังคมญี่ปุ่นเกิดขึ้นในยุคกลางช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 9 เฉพาะในกลุ่มครอบครัวที่ให้บริการด้านความบันเทิงและการบริการทางเพศโดยเฉพาะ กระทั่งเข้าสู่สมัยใหม่ช่วงต้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 15 ต่อศตวรรษที่ 16 ที่รัฐบาลโชกุนอนุญาตให้ตั้งซ่องโสเภณีได้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเกิดปรากฏการณ์การบังคับหรือลักพาตัวผู้หญิงมาขายให้เจ้าของซ่อง นิทรรศการได้รวบรวมบันทึกส่วนตัวและจดหมายของหญิงขายบริการซึ่งสะท้อนให้เห็นการแบ่งเพศ เพศวิถี และสถานะของชายหญิงในกลุ่มสังคมย่อยที่มีการต่อรองในประเด็นเพศสภาพอย่างเข้มข้น

บทที่ 7 Gender in Daily Life and Work – From Modern to Contemporary Japan ซึ่งเป็นส่วนท้ายสุดของนิทรรศการได้กล่าวถึงกระบวนการเข้าสู่สมัยของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19 ที่ผลักผู้หญิงให้พ้นจากบทบาทที่สำคัญในพื้นที่ต่างๆ และแม้ว่าผู้หญิงยังมีบทบาทอยู่มาก แต่กลับถูกทำให้มองไม่เห็นด้วยการกีดกันทางเพศผ่านกระบวนการการสอบคัดเลือก หนังสือเล่มนี้เพ่งพินิจและชี้ชวนให้ผู้อ่านลองทบทวนดูว่าระบบการทำงานสมัยใหม่ได้กลายเป็นกลไกที่ทำให้ผู้หญิงถูกเรียกร้องให้แสดง “ความเป็นผู้หญิง (femininity)” ในอาชีพเฉพาะทางอย่างไร

บทสรุปเนื้อหาที่อธิบายมาทั้งหมดข้างต้นแม้จะยืดยาวและค่อนข้างหนักสำหรับผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นกับการอ่านหนังสือวิชาการ หรือ นักวิชาการที่ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แต่อย่างที่ระบุประเภทของหนังสือไว้ในส่วนต้นว่าเป็น หนังสือวิชาการ ความหนักจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกินความคาดหมายนัก ในวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยเองก็มีการผลิตงานวิจัยในประเด็นเพศสภาพอยู่พอสมควรโดยเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษ 1990 คล้ายกับวงวิชาการของญี่ปุ่น หากจะมีการผลิตหนังสือหรือนิทรรศการที่เล่าประวัติศาสตร์ไทยภาพรวมผ่านกรอบการอธิบายเรื่องเพศสภาพอย่างหนังสือ Gender in Japanese History ก็น่าจะพอเป็นไปได้ งานนิทรรศการซึ่งเป็นการสื่อสารวิชาการประวัติศาสตร์ที่เน้นกลุ่มผู้ชมในสังคมวงกว้างนั้นจำเป็นจะต้องแปรรูปความเป็นวิชาการให้ย่อยง่ายสำหรับผู้ชมทั่วไป ผู้แนะนำเห็นว่าการเริ่มต้นจากการสังเคราะห์คำอธิบายที่มาจากงานวิจัยที่เน้นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่หลากหลายอย่างที่หนังสือ Gender in Japanese History ทำไว้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแบบหนึ่ง