HISTORY

6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง โดย ธงชัย วินิจจะกูล. ฟ้าเดียวกัน. กรุงเทพ, 2563, 344 หน้า

แนะนำหนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ว่าด้วย 6 ตุลา 2519

แนะนำโดย นภควัฒน์ วันชัย นักศึกษาปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ 23 มีนาคม 2565

 

6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ว่าด้วย 6 ตุลา 2519 โดย ธงชัย วินิจจะกูล เป็นหนังสือที่ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2563 โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2558 เป็นหนังสือที่รวบรวมงานเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นการเปิดเผย “ความทรงจำ” ว่าด้วย 6 ตุลาต่อสาธารณชน

การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในปี 2519 เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังไม่ได้รับการสะสาง หรือแม้กระทั่งยังส่งผลกระทบเรื้อรังทั้งต่อปัจเจกบุคคลและสังคม ยังคงต้องการคำอธิบายอีกมากมายที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ย้อนกลับไปก่อนเกิดโศกนาฎกรรมวันที่ 6 ตุลาคม ในช่วงประมาณตี 2 ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตำรวจและมวลชนที่กำลังเดือดดาลรวมตัวกันปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างสงบตลอดทั้งคืน เพื่อประท้วงการกลับมาของอดีตเผด็จการที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศโดยการลุกฮือของประชาชนในปี 2516 หรือเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ในหนังสือเล่มนี้มิได้แค่พูดถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังพูดถึงการจัดการกับความทรงจำที่อิหลักอิเหลื่อเรื่องการสังหารหมู่ ความเจ็บปวดหรือแม้กระทั่งการจัดการของความเงียบเพราะเหตุการณ์ 6 ตุลายังเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังไม่ได้รับคำอธิบายเพียงพอว่าในเหตุการณ์วันนั้นเกิดอะไรขึ้น การหาคนผิดคนถูกในกระบวนการความยุติธรรม และความเกลียดชังที่เกิดขึ้นต่อคอมมิวนิสต์จนเกิดเหตุการณ์ที่มีความสูญเสียที่แสนเจ็บปวด ความทรงจำและการเมืองที่ยังคงขัดแย้งอยู่ได้ปิดกั้นการแก้ไขปัญหาและยืดระยะเวลาของความสงสัยในตนเอง ความรู้สึกผิด หรือแม้กระทั่งความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมในหมู่ปัจเจกบุคคล ถ้าหากภารกิจของวิชาประวัติศาสตร์ ในฐานะองค์ความรู้อย่างหนึ่งของการค้นหาความจริงในอดีต แล้วประวัติศาสตร์จะจัดการสะสางประวัติศาสตร์บาดแผลเช่น 6 ตุลา ได้อย่างไร? ความพยายามของหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามที่จะทำลายความเงียบงัน และเป็นก้าวแรกของการเขียนประวัติศาสตร์บาดแผลของ 6 ตุลา อดีตและความหมายของมันถูกมองผ่านกรอบและทำความเข้าใจผ่านการมองมุมมองในปัจจุบัน หนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ทำให้เราเห็นว่า ณ เหตุการณ์หนึ่งในทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือการเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ทำให้เราเห็นถึงการจัดการกับความทรงจำ ความเงียบและวิถีชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์ จะทำให้เราเข้าใจว่า ณ เหตุการณ์หนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อความเป็นปัจเจกบุคคลและสังคมที่เป็นแบบอิหลักอิเหลื่อ

การจัดงานรำลึกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2539 ในทัศนะของผู้เขียนนั้นถือว่าเป็นการจัดงานรำลึกเพื่อทลายกำแพงของความเงียบหลังจากเกิดเหตุการณ์ในเช้าวันนั้น ถึงแม้ความเงียบงันจะถูกทำลายลง แต่แพดานมิได้สูงขึ้น สิ่งหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามสะท้อนให้เห็นว่าการจัดงานรำลึก 6 ตุลา 2539 นั้น ทำให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมการชุมนุมในเช้าวันนั้นซึ่งต่างถูกกล่าวหาว่า ผู้เขาเหล่านั้นเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นผู้มีความคิดรุนแรง หรือแม้กระทั้งผู้รักประชาธิปไตย มิว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้จะเป็นแบบใด การจัดงานรำลึกในครั้งนี้ก็เพื่อทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับการยกย่องในฐานะเพื่อนมนุษย์ พวกเขาไม่ใช่เหตุของความเกลียดชัง แต่พวกเขาเหล่านั้นก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่มาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสังคมที่ตนเองพึงปรารถนา ในแง่นี้ผู้เขียนมองว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา ถึงแม้สังคมจะพยายามลืมเพียงใด แต่ประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยเป็นเช่นนั้น มันกลับถูกส่งต่อ การค้นหาความยุติธรรมแก่สังคม และการหาคำอธิบายต่อเหตุการณ์นี้ สิ่งนี้เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ ซึ่งการนำเสนอเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นมุมมองของความเจ็บปวดผ่านความทรงจำด้วยเช่นกัน

 

ความเจ็บปวดผ่านความทรงจำ

ทุกความทรงจำมักมีเรื่องราวที่แสนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นความสุขกับการที่ได้กินของอร่อย การมีความประทับใจเมื่อได้ไปเที่ยวในวันหยุดสุดแสนธรรมดา หรือแม้กระทั่ง “ความเจ็บปวด” ของเราที่มีต่อความทรงจำเหล่านั้นในอดีต จึงยากที่จะบอกเล่าหรือแม้กระทั่ง “การจดจำ” ในทางกลับกันความทรงจำก็มีความเจ็บปวด เพราะสิ่งที่เราพบอาจจะเป็นอดีตที่แสนคลุมเครือ หรืออดีตที่เราไม่อยากจดจำ โดยผู้เขียนมองว่า ความทรงจำและความเจ็บปวด มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ไม่ว่าสถานการณ์ที่ประสบพบเจอจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันหรือเหมือนกัน สุดท้ายความเจ็บปวดต่อเหตุการณ์ที่จดจำก็จะเป็นความเจ็บปวดผ่านความทรงจำส่วนรวมและไม่ว่าจะใช้คำใดสลับกัน “ความทรงจำผ่านความเจ็บปวด” หรือ “ความเจ็บปวดผ่านความทรงจำ” ก็ย่อมที่จะมีความคล้ายคลึงไม่มากก็น้อย หนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง เป็นเอกสารชิ้นสำคัญในทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้มองเห็นถึงอดีต ความทรงจำ ความเงียบ และความเจ็บปวด โดยผู้คนในเหตุการณ์เช้าวันนั้นประสบพบเจอ

ผู้เขียนขอให้คำนิยาม ความเจ็บปวดผ่านความทรงจำส่วนรวม หมายถึง ความทรงจำที่มีความแตกต่างกันหรือเหมือนกัน (ที่ประสบเจอคล้าย ๆ กัน) และมีความเจ็บปวดที่แตกต่างกันในระดับของความรับรู้แต่มีความเข้าอกเข้าใจกัน เพราะความเจ็บปวดที่ประสบพบเจอเหมือนกัน ทำให้เกิดองค์รวมของการสำนึกความทรงจำและความเจ็บปวดรวมกัน ไม่ว่าความทรงเหล่านั้นจะเป็นเหตุการณ์ที่แตกต่างหรือเหมือนกัน แต่ความหมายนี้ก็ย่อมครอบคลุมถึง ความเจ็บปวดผ่านความเข้าใจ ถึงแม้จะมีความเป็นปัจเจกบุคคล แต่การมีความรู้สึก ความเจ็บปวด และความทรงจำร่วมกันก็ย่อมได้ เป็นต้น

เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ผู้เขียนให้ความสนใจหลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้และทำให้ผู้เขียนขบคิดว่า ความทรงจำเหล่านี้ย่อมต้องมีความเจ็บปวดที่มิอาจพูดถึงได้หรือการเก็บความเจ็บปวดเหล่านั้นไว้ในจิตใจ การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดในอดีตควรตั้งเป้าไปที่การปลดปล่อยตัวเองจากการเกาะกุมของอดีต[1] ในทัศนะของผู้เขียน 6 ตุลา ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่คอยหลอกหลอนสังคมไทยมาโดยตลอดไม่ว่าจะยุคสมัยใด ประวัติศาสตร์ยิ่งถูกควบคุมโดยรัฐหรือยิ่งถูกลบไปจากสังคมเพียงใด ประวัติศาสตร์ก็จะยิ่งถูกพูดถึงมากขึ้น การเงียบ(หรือถูกบังคับให้เงียบ)ยิ่งทำให้ถูกกดทับทางปัญญาไม่ว่าจะมาจากทางสังคม การเมือง หรือวัฒนธรรม แต่สุดท้ายแล้วการศึกษาประวัติศาสตร์จะทำให้เราปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากอดีตที่กุมเราไว้ แม้ว่าผู้มีอำนาจในสังคมไทยต้องการให้ 6 ตุลา ไม่มีพื้นที่ในสังคมไทย แต่สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เพราะประวัติศาสตร์เป็นเครื่องพิสูจน์มานับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่มีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ แต่พื้นในความทรงจำ 6 ตุลา เหล่านี้ก็จะยังอยู่กับสังคมไทยต่อไป

ความทรงจำที่อิหลักอิเหลื่อ ความหวังที่จะได้พบลูกชาย หรือแม้แต่ความจริงที่ทำลายความหวัง ไม่ว่าอะไรก็ตามแต่ สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแสนเจ็บปวดเกินจะรับไว้ จินดา ทองสินธุ์ สูญเสียลูกชาย จารุพงษ์ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ความทรงจำที่แสนเจ็บปวดเหล่านี้ย่อมหมายถึง ความเจ็บปวดผ่านความทรงจำ ที่เกิดขึ้นเหมือนกันหรือแตกต่าง สุดท้ายแล้วก็ย่อมจะเป็นการรับรู้ผ่านความทรงจำร่วมกัน เรื่องเล่าของจินดาและลิ้ม ทองสินธุ์ คงเป็นอีกเรื่องเล่าที่ทำให้เห็นถึงอีกหลายนับร้อยครอบครัวที่พยายามเก็บความทรงจำไว้อย่างเงียบ ๆ เพื่อให้พวกเขามีชีวิตอยู่ในความทรงจำส่วนตัวของตน แต่ความเงียบเหล่านี้แสนเจ็บปวด หนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ไม่ใช่เพียงแค่หนังสือที่มีเนื้อหาวิชาการ แต่เป็นหนังสือที่มีชีวิตชีวาและความเจ็บปวดหรือความทรงจำที่เป็นตัวแทนของหลายครอบครัว สิ่งหนึ่งที่ขาดมิได้เลยคือ ความทรงจำทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ถูกหล่อหลอมด้วยประสบการณ์ในเช้าวันนั้นหรือหลังจากนั้นไม่นาน ความทรงจำและความเงียบถูกเปลี่ยนแปลงตลอดหลายปีที่ผ่านมาด้วยสังคมประชาธิปไตยที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ความทรงจำและความเงียบถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยในแต่ละมุมมองของบุคคล

 

หนังสือเล่มนี้ให้อะไรแก่สังคมไทย

หนังสือเล่มนี้ให้ทั้งบทเรียนว่าเราไม่ควรจะไปถึงจุดนั้นและไม่ควรต้องมีการสูญเสียอีกแล้ว แต่ในขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ยังคงเป็น “ผี” ที่คอยหลอกหลอนสังคมไทย ที่ผู้คนบางกลุ่มไม่อยากให้พูดถึง แต่ผีตนนี้กลับไม่ถูกสะสางหรือไม่ถูกรื้อฟื้นจากความทรงจำและไม่กระจ่างจนผีตนนี้ยังคงรอให้ “เวลา” เป็นตัวพิสูจน์ ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน นับตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา ความทรงจำ 6 ตุลาก็เริ่มฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในความทรงจำของสังคมที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ 6 ตุลา จะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่ 6 ตุลา ก็จะยังคงมีชีวิต ชีวิตที่ถูกพูดถึงซ้ำในสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงเสมอมา ถึงแม้ความทรงจำ 6 ตุลา จะถูกรัฐหรือสถาบันทางสังคมกดทับ แต่ประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าทุกอย่างย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงฉันนั้น

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจเพียงแค่ฉากหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพียงเท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจถึงผู้คนในเหตุการณ์ในเช้าวันนั้น ทำให้เรามองว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การศึกษาจากหลักฐานที่มีอยู่ แต่ประวัติศาสตร์ทำให้เรามองเห็นชีวิต ชีวิตนั้นคือชีวิตของครอบครัวนับสิบหรือนับร้อยที่ประสบพบเจอเหมือนครอบครัว จินดาและลิ้ม ทองสินธุ์ ทำให้เราเข้าใจถึง “ชีวิต” อย่างแท้จริง เข้าใจถึงความทรงจำ ความเงียบ และความเจ็บปวดที่ครอบครัวจินดาและลิ้ม ทองสินธุ์ เป็นตัวแทนของครอบครัว ความทรงจำของฝ่ายขวาที่มีต่อเหตุการณ์และตนเอง ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหมุดหมายสำคัญต่อความทรงจำของ 6 ตุลา และเพื่อให้สังคมไทยได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์บาดแผลซึ่งจะทำให้คนในปัจจุบันเข้าใจและมีมุมมองมากขึ้น และไม่ทำผิดซ้ำรอยอีกในอนาคต

 

รายการอ้างอิง

ยูวัล โนอาห์ แฮรารี. โฮโมดีอุส ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้. แปลโดย นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ธิดา จงนิรามัย

สถิต. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป, 2562.

 

[1] ยูวัล โนอาห์ แฮรารี, โฮโมดีอุส ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้, แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ธิดา จงนิรามัยสถิต (กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป, 2562), 92.