Exhibition
Gender in Japanese History, Special Exhibition Galleries, National Museum of Japanese History, October 6 – December 6, 2020.
แนะนำโดย นิภาพร รัชตพัฒนากุล
เผยแพร่เมื่อ 17 พฤษภาคม 2566
ช่วงตุลาคมถึงธันวาคม ปี 2020 National Museum of Japanese History (国立歴史民族博物館) ที่จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดนิทรรศการพิเศษหัวข้อ Gender in Japanese History นิทรรศการนี้ปรับปรุงมาจากงานวิจัยพื้นฐานเรื่อง Gendering the History of the Japanese Archipelago ทำขึ้นระหว่างปี 2016-2018 ซึ่งมี ศาสตราจารย์ Yokoyama Yuriko เป็นหัวหน้าคณะวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการสร้างเพศสภาพ (gender) ในหมู่เกาะญี่ปุ่นด้วยวิธีการอธิบายแบบประวัติศาสตร์ โดยในนิทรรศการได้จัดแสดงวัตถุกว่า 280 ชิ้น เพื่ออธิบายความหมายของเพศสภาพตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของความหมายตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของสังคมญี่ปุ่น
เนื้อหาของนิทรรศการเป็นการเล่าภาพรวมประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงร่วมสมัยผ่านมุมมองเพศสภาพ โดยแบ่งยุคสมัยเป็นสังคมญี่ปุ่นสมัยจารีต (Classical Japanese Society) ญี่ปุ่นยุคกลาง (Medieval Japan) สมัยใหม่ช่วงต้น (Early Modern) สมัยใหม่ (Modern) และ ร่วมสมัย (Contemporary) ส่วนประเด็นในแต่ละช่วงเวลานั้นกระจายกันไปทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม โดยอธิบายผ่านพื้นที่ทางการเมือง กิจกรรมเกี่ยวกับการทำงานและการใช้ชีวิต
แม้นิทรรศการจะจัดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งทำให้การเดินทางเต็มไปด้วยข้อจำกัด และผู้แนะนำเองก็ไม่มีโอกาสได้ชมนิทรรศการนี้ด้วยตนเอง แต่ยังสามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบ Audio Guide ในว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ ผู้ชมสามารถรับฟังเสียงบรรยายประเด็นหลัก (มีเฉพาะภาษาญี่ปุ่น) ของหัวข้อจัดแสดงทั้ง 7 ซึ่งแยกออกเป็น 35 หัวข้อย่อย โดยเสียงบรรยายแต่ละหัวข้อมีความยาวระหว่าง 1-5 นาที รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 100 นาที นอกจากนั้นยังมีภาพวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการจำนวนหนึ่งที่นำมาลงไว้ ที่แปลกตาน่าสนใจก็เช่น ภาพตุ๊กตา Haniwa (ภาพที่ 1 จากซ้าย) ใช้อธิบายเพศสภาพในราชสำนักสมัยจารีต ภาพพระโพธิสัตว์ไม้แกะสลัก ค.ศ.1334 (ภาพที่ 2 จากซ้าย) จากสมัยกลางซึ่งพบภาพพิมพ์รูปพระโพธิสัตว์ที่ด้านหลังเขียนคำอธิษฐานและชื่อผู้อธิษฐาน พร้อมทั้งปอยผมของหญิงผู้อธิษฐานจำนวนมากบรรจุอยู่ภายใน ภาพจำลองห้องพักของเกอิชา (ภาพที่ 3 จากซ้าย) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จัดแสดงอุปกรณ์ทำความสะอาดภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อวางอยู่กลางห้อง ตลอดจนโปสเตอร์ปลุกใจให้ผู้หญิงออกมาเป็นแรงงานสร้างชาติในช่วงระหว่างสงคราม (ภาพที่ 4 จากซ้าย) นอกจากนั้นพิพิธภัณฑ์ยังได้จัดพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่อเนื่องจากนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ซึ่งผู้เขียนจะได้แนะนำในโอกาสต่อไป
ภาพจาก เว็บไซต์ tokyoartbeat และ 新婦人の会