NONFICTION

Embers of War: The Fall of an Empire and the Making of America's Vietnam โดย Fredrik Logevall. Random House Trade. New York, 2012, 837 หน้า

วิจารณ์โดย ภานุวัฒน์ อรุณรุ่ง นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565

 

 

         อาจกล่าวได้ว่างานศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามช่วงสงครามเย็นเป็นที่สนใจต่อโลกตะวันตก โดยเฉพาะช่วงของสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นห้วงเวลาสำคัญของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มตัว และได้กลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ รวมไปถึงเวียดนามมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากงานศึกษาที่ผ่านมาของทางแวดวงวิชาการตะวันตกจะพบว่ามีเป็นจำนวนมากและส่วนใหญ่อยู่ในมิติทางด้านการทหารหรือช่วงเวลาที่สงครามดำเนินอยู่ อย่างไรก็ตามหนังสือเรื่อง Embers of War: The Fall of an Empire and the Making of America's Vietnamโดย เฟรดริก ลูเกเวา (Fredrik Logevall) เป็นหนึ่งในงานชิ้นสำคัญที่เปิดมุมมองใหม่ทางด้านการเมืองและการต่างประเทศ โดยพาย้อนกลับไปศึกษาถึงต้นกำเนิดของความขัดแย้งครั้งนี้ที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสและผู้นำโลกเสรีคือสหรัฐอเมริกา งานศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการขยายมุมมองใหม่ต่อการศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามช่วงสงครามเย็นให้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น

         หนังสือดังกล่าวตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2012 และได้รับรางวัลจำนวนมาก เช่น รางวัลพูลิตเซอร์สาขาประวัติศาสตร์ประจำปี ค.ศ. 2013 (Pulitzer Prize for History) รางวัลฟรานซิส พาร์คแมน (Francis Parkman Prize) และ รางวัลของหอสมุดอเมริกันประจำกรุงปารีส (American Library in Paris Book Award) เป็นต้น สำหรับผู้เขียน เฟรดริก ลูเกเวา เป็นนักประวัติศาสตร์และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชี่ยวชาญทางด้านนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯและสงครามเวียดนาม ผลงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การทูต นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ร่วมสมัย และเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม เช่น America’s Cold War: The Politics of Insecurity (2012) และผลงานล่าสุดคือ JFK: Coming of Age in the American Century, 1917-1956 (2020) โดยผลงานที่ได้รับความนิยมและรางวัลมากที่สุดคือเรื่อง Embers of War (2012)

         หนังสือเรื่องนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาอันนำไปสู่สงครามเวียดนาม โดยตั้งต้นตั้งแต่สนธิสัญญาแวร์ซายเมื่อปี ค.ศ. 1919 จนกระทั่งถึงการเข้ามามีส่วนร่วมกับสงครามของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 เพื่ออธิบายถึงพัฒนาการของการดำเนินนโยบายทางการเมืองและการต่างประเทศของทั้งเวียดนาม ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ จนนำไปสู่สงคราม

         แรกเริ่มหนังสือได้อธิบายถึงสภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อโฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) และคณะชาวเวียดนามชาตินิยมเรียกร้องแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรถึงสิทธิพลเมืองของชาวเวียดนามในอาณานิคมอินโดจีน ซึ่งสอดคล้องกับประกาศหลักการสิบสี่ข้อของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) อย่างไรก็ตามความสนใจของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกมุ่งไปที่ประเทศเกิดใหม่ของยุโรป ประเด็นอาณานิคมอินโดจีนจึงถูกละเลยไป

         ต่อมาลูเกเวาได้ให้ความสำคัญไปที่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มชาตินิยมของโฮจิมินห์กับสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เนื่องด้วยการดำเนินนโยบายของรูสเวลต์ที่ต่อต้านลัทธิอาณานิคมและสนับสนุนเอกราชของประเทศอาณานิคม สหรัฐฯ จึงสนับสนุนโฮจิมินห์และกองกำลังเวียดมินห์ต่อการต่อสู้กับญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันหนังสือก็แสดงถึงการวางแผนนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศสพลัดถิ่นของชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) ที่ต้องการฟื้นคืนดินแดนอาณานิคมที่เคยมีก่อนสงคราม ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อสหรัฐฯ

         จนกระทั่งรูสเวลต์เสียชีวิต นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนไปอีกด้าน กล่าวคือภายหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำเนินนโยบายฟื้นฟูอาณานิคมอินโดจีน หนังสือได้อธิบายว่าการดำเนินนโยบายของฝรั่งเศสเป็นการกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งขึ้นแทนที่สันติภาพ ต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของแฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) เข้ามาประเมินสถานการณ์เพื่อการไกล่เกลี่ยและให้ความช่วยเหลือเวียดนามสำหรับการได้รับเอกราชตามกรอบประชาธิปไตย ทว่าสหรัฐฯ กลับมองเวียดมินห์เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว โดยมิสนใจคำร้องของโฮจิมินห์ ว่าเขาให้ความสำคัญต่ออิสรภาพของชาติเวียดนามก่อนอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งยังพร้อมให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพเรือเพื่อแลกกับการช่วยเหลือ แต่สหรัฐฯ กลับยกเลิกการช่วยเหลือเวียดมินห์และสนับสนุนฝรั่งเศสแทน ปัจจัยเหล่านี้จึงนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงและปูทางไปสู่สงครามอินโดจีน

         ช่วงบทต่อมา หนังสืออธิบายรายละเอียดการดำเนินนโยบายทางการเมืองและสงครามระหว่าง ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และเวียดนาม ตลอดสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 โดยเฉพาะสมรภูมิเดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) ซึ่งความพ่ายแพ้นำไปสู่การถอนทหารของฝรั่งเศส หนังสือให้ภาพถึงขวัญกำลังใจที่ลดลงของกองทัพฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันแสดงถึงภาพของฝั่งกองทัพเวียดมินห์ที่อ่อนแรงและตึงเครียด สำหรับสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) เมื่อความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสปรากฎ ไอเซนฮาวร์พยายามหาทางออกโดยมีท่าทีที่จะแทรกแซงส่งทหารเข้าไปโดยตรง รวมไปถึงการพยายามนำอังกฤษเข้ามาช่วยเหลือสถานการณ์ในเวียดนาม ซึ่งต่างไม่เป็นผลสำเร็จ นำไปสู่การสถาปนารัฐเวียดนามใต้ของโง ดิ่ญ เสี่ยม (Ngo Dinh Diem) ที่สนับสนุนสหรัฐฯ   

         ช่วงท้ายของหนังสือ ลูเกเวาให้ภาพของจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ที่แสดงออกถึงการดำเนินโยบายสกัดกั้นคอมมิวนิสต์อย่างแรงกล้า โดยการเพิ่มความช่วยเหลือทางการทหารและการพัฒนาแก่เวียดนามใต้เพื่อชัยชนะของสหรัฐฯ ในเวียดนาม การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ต่อเวียดนามยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การเข้าร่วมสงครามเวียดนามอย่างเต็มตัวในสมัยของลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ปี ค.ศ. 1965        

         จากการศึกษาพัฒนาการของความขัดแย้ง ข้อเสนอหลักของหนังสือคือ แท้จริงแล้วสงครามในเวียดนามก่อเกิดจากการดำเนินนโยบายทางการเมืองและการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเวียดนาม ความต้องการรักษาไว้ซึ่งอาณานิคมของฝรั่งเศสและความกังวลต่อภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ ได้เข้ามาผลักดันให้ความสัมพันธ์กับเวียดนามต้องถอยห่างออกไป งานศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับสหภาพโซเวียตมีความคลุมเครือ ซึ่งผิดกับสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์อันดีมาก่อน แต่การปรับเปลี่ยนมาเป็นนโยบายปิดล้อมเวียดนาม ได้กลายเป็นมรดกที่สืบทอดต่อมาของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ และทำให้ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นจนนำไปสู่สงครามเวียดนาม

         ส่วนของระเบียบวิธีวิจัย งานศึกษามุ่งไปที่มิติของตัวละครทางการเมืองที่มีส่วนต่อการกำหนดนโยบาย ลูเกเวาจึงเน้นการใช้หลักฐานชั้นต้นประเภทเอกสารราชการและการทูตจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ และเอกสารแปลจากภาษาเวียดนาม รวมไปถึงการใช้เอกสารอื่นๆ หรือเอกสารชั้นรองเข้ามาประกอบ

         สำหรับผู้วิจารณ์มีความเห็นว่า ถึงแม้ประเด็นสงครามเวียดนามจะเป็นที่สนใจในโลกตะวันตกอันสะท้อนจากงานศึกษาที่มีปริมาณมาก หนังสือเรื่องดังกล่าวก็ยังมีความใหม่และน่าสนใจอย่างยิ่งจากการศึกษาค้นคว้าที่ย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดของความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนมากกว่าแค่เรื่องของการต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองหรือการแย่งชิงพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ ซึ่งงานศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วสาเหตุของสงครามเวียดนามเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายทางการเมืองและการต่างประเทศของสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ที่ยิ่งผลักเวียดนามออกไปอยู่ในอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและจีนเอง และแทนที่ความล้มเหลวของฝรั่งเศสจะเป็นบทเรียนให้กับสหรัฐฯ ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสหรัฐฯ กลับดำเนินรอยตามฝรั่งเศส เช่น การปราบปรามผู้ก่อการคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง (Counterinsurgency) กลับส่งผลกระทบต่อพลเรือนเวียดนามจนสร้างความเกลียดชังในสังคมเวียดนาม การขาดเสียงสนับสนุนจากภายในประเทศตน ความตั้งใจบิดเบือนข้อมูลข่าวสารแก่สื่อและประชาชน และความมั่นใจต่อความเจริญก้าวหน้าที่เหนือกว่า เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การพัวพันของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนามมีความโกลาหลอย่างต่อเนื่อง        

          นอกจากนี้ด้วยการใช้หลักฐานที่แสดงถึงตัวละครที่มีส่วนต่อการกำหนดนโยบายที่ทำให้เห็นตั้งแต่แนวคิดการวางแผน การดำเนินงานและผลที่ตามมา จึงทำให้นอกจากจะเป็นการหาคำอธิบายว่า “เหตุการณ์เกิดขึ้นและดำเนินได้อย่างไร” (How?) แล้ว หนังสือก็ยังชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหาก” (What if?) เพราะหนังสือแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของเหล่าผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายที่มีการพิจารณาหารือเพื่อหาทางออกของนโยบายต่างๆ หลักฐานแสดงถึงทางเลือกของนโยบายอื่นๆ ที่จะกำหนดชะตาของเวียดนาม ดังนั้นหากสหรัฐฯ ฝรั่งเศส หรือเวียดนามเลือกนโยบายทางเลือกอื่นๆ สงครามเวียดนามอาจไปในอีกทิศทางหนึ่ง หรือหลีกเลี่ยงได้ เช่น ลูเกเวาแสดงความเห็นว่า แท้จริงแล้ว สหรัฐฯ อาจดำเนินความสัมพันธ์กับโฮจิมินห์ ให้เหมือนกับที่ใช้กับ ยอซีป บรอซ ตีโต (Josip Broz Tito) ผู้นำยูโกสลาเวียในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะทั้งสองมีเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกันคือ ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกเสรีมากกว่าฝั่งประเทศหลังม่านเหล็ก เป็นต้น จากกรณีดังกล่าวสหรัฐฯ มิได้ดำเนินนโยบายตามรอยเดิม การผลักโฮจิมินห์
ออกไปยิ่งทำให้อิทธิพลของโลกเสรีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถอยห่างไป การอธิบายที่แสดงให้เห็นถึงนโยบายทางเลือกได้ทำให้เกิดบทสนทนาระหว่างหนังสือกับผู้อ่าน ถึงแม้หากมองที่มิติการศึกษาทางประวัติศาสตร์ก็อาจจะก่อให้เกิดคำถามและปัญหาได้ แต่หนังสือก็แสดงนโยบายทางเลือกต่างๆ ที่มาจากกระบวนการคิดของเหล่าตัวละครทางการเมืองที่สะท้อนผ่านหลักฐานชัดเจน กรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้หนังสือได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมอเมริกัน ซึ่งมักย้อนกลับไปทบทวนบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของตนในสงครามเวียดนามอยู่เสมอ

           หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการเปิดมุมมองใหม่ต่อเวียดนามช่วงยุคก่อนสงครามเวียดนามที่ครอบคลุมทั้งด้านการเมืองและการต่างประเทศ การย้อนกลับไปสำรวจถึงจุดกำเนิดของความขัดแย้งทำให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การปลดปล่อยเวียดนามจากการเป็นอาณานิคม และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเวียดนามที่เคยดำเนินมาได้ด้วยดี แต่กลับจบลงด้วยความขัดแย้งจากผลของการดำเนินนโยบายที่ก่อเกิดจากแนวคิดที่ฝังลึกและส่งต่อไปในการเมืองและการต่างประเทศของสหรัฐฯ ช่วงสงครามเย็น

         ความโดดเด่นประการสุดท้ายที่ควรกล่าวถึงคือความเป็นประเด็นร่วมสมัยในหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากสังคมตะวันตกหรืออเมริกัน เมื่อกล่าวถึงสงครามเวียดนามก็มักจะมีการยกเหตุการณ์ดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับกรณีสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในปัจจุบัน (War on Terror) หนังสือเล่มนี้เป็นการตอกย้ำให้ผู้อ่านรู้สึกถึง “ความเคยเห็นแล้ว” (déjà vu) เพราะทำให้เห็นว่านโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อกลุ่มประเทศตะวันออกกลางก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและยังคงเดิมกับสิ่งที่เคยทำในเวียดนามช่วงสงครามเย็น ซึ่งผลของเหตุการณ์ก็คล้ายคลึงกันคือ การนำสหรัฐฯ ไปพัวพันกับสงครามที่ยืดเยื้อ จนก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อทุกฝ่าย

         ทั้งนี้ถึงแม้ปัจจุบัน สงครามเวียดนามจะเป็นความทรงจำที่สร้างรอยร้าวความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเวียดนาม แต่การคุกคามภูมิภาคทะเลจีนใต้ของจีนก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การแสดงความเป็นพันธมิตรและกระตุ้นให้รัฐบาลเวียดนามกดดันจีนกลับเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เปรียบได้กับภาพของสหรัฐฯ ที่เข้ามามีบทบาทต่อเวียดนามเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามเย็น เพียงแต่ครั้งนี้สหรัฐฯ จะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันออกไปหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวต้องเฝ้าสังเกตต่อไป