วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต
โฆษณาชวนเชื่อในนิตยสารเสรีภาพ พ.ศ. 2497-2518
โดย ธงนรินทร์ นามวงศ์
ปี 2562

ดาวน์โหลดได้ที่ Http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:179085

บทคัดย่อ

สหรัฐอเมริกาและประเทศไทยมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างลึกซึ้งทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ประเทศไทยได้กลายเป็นป้อมปราการของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยยังได้นำพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา หลักฐานหนึ่งที่แสดงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ คือ สิ่งพิมพ์ในช่วงเวลาดังกล่าว วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาการโฆษณาชวนเชื่อในนิตยสารเสรีภาพที่ถูกพิมพ์และเผยแพร่โดยสำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ถึง พ.ศ. 2518 โดยนิตยสารฉบับนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษากระบวนการทำงานของเสรีภาพในช่วงเวลาที่ปราศจากคู่แข่งในทางการเมืองภายหลังจากการกวาดล้างของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใน พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา จากการศึกษาพบว่านิตยสารเสรีภาพมีโครงเรื่อง (plot) ที่นำเสนอเนื้อหาที่แสดงให้เห็นขั้วตรงข้ามระหว่างความเลวร้ายของโลกคอมมิวนิสต์กับความดีงามของโลกเสรี ซึ่งคอมมิวนิสต์กลายมาเป็นภัยคุกคามต่อ “ความเป็นไทย” อันมี “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” นอกจากนั้นเสรีภาพยังนำเสนอบทบาทของหน่วยงานราชการและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเป็น “สัญลักษณ์” ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และเป็น “ผู้เผยแพร่” วัฒนธรรมอเมริกันด้วย เสรีภาพยังโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นภาพของความดีงามของสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยที่เกิดจากขึ้นจากการเข้าไปอยู่ภายใต้ระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาผ่านทางการนำเสนอ วัฒนธรรมอเมริกัน แนวคิดแบบประชาธิปไตย ทุนนิยมและการพัฒนา รวมถึงในท้ายที่สุดได้นำพาคนไทยให้เข้าสู่การ “บริโภคนิยมแบบอเมริกัน” ในช่วงสงครามเย็นด้วย