วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต
ชนชั้นนำไทยกับการจัดการการศึกษาไทย: หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กับโครงการด้านการศึกษา พ.ศ. 2490-2512
โดย ภานุพงศ์ สิทธิสาร
ดาวน์โหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:179087

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ตั้งคำถามสำคัญว่า ม.ล. ปิ่น มาลากุล ในฐานะสมาชิกเครือข่ายชนชั้นนำไทย มีบทบาทอย่างไร ต่อการจัดตั้งโครงการด้านการศึกษาหลายโครงการ ระหว่าง พ.ศ. 2490 – 2512 รวมถึงโครงการด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลอย่างไรต่อพัฒนาการระบบการศึกษาของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว การศึกษานี้ใช้เอกสารชั้นต้นและเอกสารชั้นรอง ได้แก่ เอกสารส่วนบุคคลในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารราชการ บันทึกความทรงจำของ ม.ล. ปิ่น มาลากุล และบุคคลใกล้ชิด หนังสือ และบทความ จากการศึกษาพบว่า นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ม.ล. ปิ่น มาลากุล เป็นผู้ริเริ่มโครงการด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาผ่านหลักการมูลสารศึกษา เมื่อเข้าสู่สมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ปรับเป้าหมายให้ประสานกับนโยบายของรัฐ ดังนั้น จึงเกิดโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค (พ.ศ.ภ.) เพื่อมุ่งขยายการศึกษาทุกระดับชั้นออกสู่ชนบท ผลจากการดำเนินโครงการตลอดสองทศวรรษ ทำให้การศึกษาไทยมีความก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ ด้วยปัจจัย 5 ประการ คือ 1. คุณสมบัติส่วนตัวของ ม.ล. ปิ่น มาลากุล 2. เครือข่ายอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในกระทรวงศึกษาธิการ 3. งบประมาณ 4. ยุคพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ 5. ค่านิยมของพลเมืองที่มีต่อการศึกษา