วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ปี 2561
ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการบริโภคนมในสังคมไทย ทศวรรษ 2500 ถึงทศวรรษ 2530
โดย ผกาพรรณ น้อยตะริ
ดาว์นโหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:165752

บทคัดย่อย

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งสำรวจประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการบริโภคนมในสังคมไทย ช่วงทศวรรษ 2500 ถึงทศวรรษ 2530 คำถามวิจัยของวิทยานิพนธ์ คือ วัฒนธรรมการบริโภคนมก่อตัวและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา การศึกษาพบว่า วัฒนธรรมการบริโภคนมไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย แต่เป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากต่างชาติ โดยก่อน พ.ศ. 2500 การบริโภคนมยังจำกัดในคนชนชั้นสูงของไทยและชาวต่างชาติ เพราะนมเป็นสินค้าหายาก ราคาแพง และไม่มีการผลิตกันอย่างจริงจัง กระทั่งทศวรรษ 2500 อุตสาหกรรมนมในประเทศได้เกิดขึ้น วัฒนธรรมการบริโภคนมจึงเริ่มแพร่หลาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมการดื่มนมที่เริ่มตื่นตัวในกรุงเทพ จากนั้นค่อยขยายไปยังต่างจังหวัด โดยในทศวรรษ 2510 วัฒนธรรมการดื่มนมก่อตัวจากการดื่มนมของเด็ก และหลังทศวรรษ 2520 วัฒนธรรมการดื่มนมก็ขยายออกไปสู่คนทุกช่วงวัย ได้แก่ เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน คือ ช่วงทศวรรษ 2500 ถึงทศวรรษ 2530 วัฒนธรรมการบริโภคนม โดยเฉพาะวัฒนธรรมการดื่มนมได้รับแรงผลักจากรัฐบาลและผู้ค้านม ทั้งในด้านการผลิต รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมนม ส่วนผู้ค้านมก็ขยายการผลิตออกไปพื้นที่ต่างๆ และการออกผลิตภัณฑ์นมใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด และในด้านการตลาด รัฐบาลดำเนินงานควบคุมคุณภาพและราคา มีการแจกจ่ายนม การเผยแพร่ความรู้เรื่องนม และการดำเนินโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการบริโภคนม และโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน ขณะเดียวกัน ผู้ค้าก็ส่งเสริมการขายโดยเน้นการโฆษณา ดังนั้น รัฐบาลและผู้ค้านมจึงมีส่วนอย่างสำคัญต่อการผลักดันให้วัฒนธรรมการบริโภคนมกลายเป็นหนึ่งในวิถีการบริโภคของคนในสังคมไทย