วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2561
เรือประมง แพปลา ห้องเย็น และโรงงาน: ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจังหวัดสตูล พ.ศ. 2504-2547
โดย เอมวิการ์ อินทรคช

ดาวน์โหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:166804

บทคัดย่อ

พัฒนาการของการทำประมงพาณิชย์ของไทยเกิดขึ้นหลังการผลักดันการประมงให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 ตลอดจนการสำรวจแหล่งประมงฝั่งทะเลอันดามันในปี พ.ศ.2507 ซึ่งทำให้เกิดการขยายแหล่งประมงของไทยจากฝั่งทะเลอ่าวไทยมายังฝั่งทะเลอันดามัน เงื่อนไขทั้งสองประการทำให้การทำประมงทะเลกลายเป็นอาชีพที่สำคัญของคนไทย และผลผลิตจากประมงทะเลกลายเป็นสินค้าเกษตรตัวใหม่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ การทำประมงทะเลของสตูลในช่วงปี พ.ศ. 2504 – 2547 ที่เติบโตขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว โดยการศึกษานี้มีจุดมุ่งหมายในการอธิบายความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของประมงพาณิชย์ในจังหวัดสตูล ซึ่งมิติด้านประมงทะเลนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจังหวัดสตูลในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา จากการศึกษาพบว่าการทำประมงพาณิชย์ในสตูลมีองค์ประกอบที่เป็นกลไกสำคัญ คือ เรือประมง แพปลา ห้องเย็น และโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ อย่างครบวงจร ซึ่งองค์ประกอบที่ครบวงจรเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีการทำประมงทะเลพาณิชย์ ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นจุดเด่นของประมงพาณิชย์ในจังหวัดสตูล อย่างไรก็ตามสตูลไม่ใช่เพียงพื้นที่เดียวที่มีการทำประมงพาณิชย์แบบครบวงจร ปัจจัยที่ทำให้การประมงพาณิชย์ของสตูลมีกลไกอย่างครบวงจร คือ การเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างสตูลและพื้นที่รอบนอก ทำให้แหล่งผลิตทางการประมงของสตูลเชื่อมต่อกับแหล่งเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ นอกจากนั้น การที่สตูลมีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียทั้งทางบกและทะเลยังทำให้สินค้าและบริการพื้นฐานของการทำประมงทะเลมีตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย จากเงื่อนไขดังกล่าวตลาดรับซื้อผลผลิตประมงของสตูลจึงขยายตัว และยังเป็นผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น กิจการโรงงานผลิตน้ำแข็ง ธุรกิจแพปลา เติบโตอีกด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2515 – 2520 ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมห้องเย็น และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำนั้นเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา โดยเอกชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว