วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2561
การเคลื่อนไหวทางความคิดของนักวิชาการและนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ในวิกฤตการณ์การเมืองไทยระหว่างปี พ.ศ. 2549-2553
โดย วรวรรณ อินทะรังษี
ดาวน์โหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:165755
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มุ่งศึกษาเรื่อง การเคลื่อนไหวทางความคิดของนักวิชาการและนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ในวิกฤตการณ์การเมืองไทยระหว่างปี พ.ศ. 2549-2553 นับตั้งแต่การเกิดการชุมนุมซึ่งมีผลต่อการเกิดรัฐประหาร ในปีพ.ศ. 2549 จนกระทั่งการสลายการชุมนุมในปี พ.ศ. 2552- 2553 จากการศึกษาพบว่าความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2549-2553นั้น เริ่มต้นจากสถานการณ์การเคลื่อนไหวแนวคิดการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและสื่อสิ่งพิมพ์ได้ก่อให้เกิดการหลอมรวมอุดมการณ์และแง่มุมต่อรัฐบาลทักษิณและส่งผลก่อให้เกิดรัฐประหารขึ้นในปี พ.ศ. 2549 ความคิดของนักวิชาการและนิตยสารรายสัปดาห์ในวิกฤตการณ์การเมืองไทยระหว่างมีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของประชาชนในช่วงรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 จนถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี พ.ศ. 2553 ความคิดของนักวิชาการและสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกเสนอในนิตยสารทั้งสามฉบับนั้น เสนอความคิดเห็นผ่านงานเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรือการเสนอแนะมีความเกี่ยวข้องต่อแนวคิดของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม เช่น กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่มีผลต่อกลุ่มผู้สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่เสมือนเป็นตัวแทนจากระบอบประชาธิปไตยที่เขาเลือก หรือสื่อสิ่งพิมพ์ของเครือผู้จัดการที่เสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม และใช้สื่อเพื่อนัดหมายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรและเสนอแง่มุมอุดมการณ์ของตน จากที่กล่าวมาทำให้เห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์และนักวิชาการที่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองนั้น สะท้อนระบบความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดของนักวิชาการและจุดยืนของสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งกระบอกเสียงให้ผู้ที่มีจุดยืนเดียวกัน แนวคิดของนักวิชาการที่ถ่ายทอดลงในสื่อสิ่งพิมพ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับจุดยื่นของสื่อสิ่งพิมพ์นั้นๆ ในวิกฤตการณ์การเมืองไทยระหว่างปีพ.ศ. 2549-2553