วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2560
จากฟันดำสู่ฟันขาว: ฟันและทันตกรรมในสังคมกรุงเทพ ทศวรรษ 2430-2490
โดย ปรีดาภรณ์ เอี่ยมแจ๋
ดาว์นโหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:91132
วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาประวัติศาสตร์ของฟันของคนในสังคมกรุงเทพมหานครในระหว่างทศวรรษ 2430-2490 คำถามหลักของวิทยานิพนธ์คือ กระแสความนิยมเกี่ยวกับฟันได้เปลี่ยนจากวัฒนธรรมฟันดำไปสู่วัฒนธรรมฟันขาวได้อย่างไร วิทยานิพนธ์นี้เสนอว่า การเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือกระแสความนิยมจากฟันดำไปสู่ฟันขาวนั้นเป็นผลมาจากการรับวัฒนธรรมและเทคโนโลยีจากโลกตะวันตกที่เข้ามาในกรุงเทพ ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 การแพทย์สมัยใหม่ การศึกษา และการสื่อสารมวลชน มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมฟันขาวในสังคมกรุงเทพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ทศวรรษ 2450 เป็นต้นมา ดังนั้น วัฒนธรรมฟันดำที่เคยเป็นที่นิยมจึงได้หมดความสำคัญลงไป ฟันดำที่เคยสื่อความหมายถึงความงามและความเป็นมนุษย์ได้ถูกลดคุณค่าให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่คู่ควรกับร่างกายยุคใหม่ ตรงกันข้ามกับฟันขาวที่เคยถูกตราว่าเป็นฟันของสัตว์และภูติผีปีศาจกลับกลายมาเป็นภาพแทนของผู้คนที่มีความทันสมัยตามแบบโลกตะวันตก แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และทันตกรรมแบบตะวันตกเข้ามาทำหน้าที่ดูแลรักษาฟันแทนหมากและสมุนไพร ช่วงเวลาสำคัญที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นคือทศวรรษ 2450-2480 ความคิดและกิจปฏิบัติตามแบบวัฒนธรรมฟันขาวถูกเผยแพร่ผ่านแบบเรียน คู่มือดูแลสุขภาพ วรรณกรรม ภาพถ่าย ภาพยนตร์ โฆษณา ร้านทำฟัน ตลอดจนนโยบายทางวัฒนธรรมและสาธารณสุขของรัฐที่เน้นเรื่องฟันขาวอย่างมากในระหว่าง พ.ศ. 2482-2486 อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปคือ แนวทางที่เชื่อกันว่า สภาพของฟันเป็นภาพแทนของรูปแบบการใช้ชีวิตและรูปแบบทางสังคม