วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2560
โรงภาพยนตร์กับวัฒนธรรมภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2500-2520
โดย ปฏิพัทธ์ สถาพร
ดาว์นโหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:145326

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรงภาพยนตร์กับวัฒนธรรมภาพยนตร์ โดยใช้วิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายบทบาทของโรงภาพยนตร์ต่อการเผยแพร่และการชมภาพยนตร์ในสังคมกรุงเทพฯ จากการศึกษาพบว่า ในช่วง พ.ศ. 2500-2520 ซึ่งถือเป็นยุคเฟื่องฟูของกิจการโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ โรงภาพยนตร์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบเมืองและเป็นตัวแทนของการพัฒนาและความทันสมัย วัฒนธรรมภาพยนตร์ในมิติต่าง ๆ ทั้งการสร้างภาพยนตร์ ธุรกิจภาพยนตร์ ตลอดจนวิถีการชมภาพยนตร์ต่างก็มีปฏิสัมพันธ์กันและปรากฏให้เห็นผ่านพื้นที่โรงภาพยนตร์ การดำเนินงานบนพื้นฐานธุรกิจส่งผลให้การแข่งขันเพื่อสร้างกำไรเป็นเป้าหมายสำคัญของโรงภาพยนตร์ ภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะภาพยนตร์ฮอลลีวูด จึงครองตลาดการฉายในโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งกรุงเทพฯ ขณะที่โรงภาพยนตร์ชั้นสองและชั้นสามเป็นพื้นที่เปิดสำหรับภาพยนตร์ทุกสัญชาติ ยุคเฟื่องฟูของโรงภาพยนตร์นี้ดำรงอยู่ควบคู่ไปกับช่องทางการชมภาพยนตร์ในรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ โทรทัศน์ สถาบันทางวัฒนธรรม และภาพยนตร์กลางแปลง ซึ่งล้วนมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมการชมที่แตกต่างกันไป ทว่าโรงภาพยนตร์ก็ยังเป็นพื้นที่หลักสำหรับการฉายและการชมภาพยนตร์ วิทยานิพนธ์นี้เสนอว่าพื้นที่ฉายมีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่แตกต่างกันไป