วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2560
ปัจจัยที่มีผลต่อการตกลงพรมแดนในดินแดนมลายูระหว่างสยามและอังกฤษในสนธิสัญญาปี ค.ศ.1909
โดย ฐนพงศ์ ลือขจรชัย
ดาว์นโหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:91130

บทคัดย่อ

การตกลงพรมแดนระหว่างสยามและอังกฤษเหนือดินแดนมลายูในปี ค.ศ.1909 แบ่งดินแดนมลายูออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสตูลในประเทศไทยกับรัฐกลันตัน ตรังกานู และเคดะห์ (ไทรบุรี) ในประเทศมาเลเซีย การตกลงพรมแดนครั้งนี้ไม่เพียงแบ่งดินแดน แต่ได้แบ่งกลุ่มคนชาติพันธุ์เดียวกันให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ตั้งคำถามที่สำคัญว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสนธิสัญญาพรมแดนระหว่างสยามและอังกฤษปี ค.ศ.1909 การศึกษาพบว่ามีปัจจัย 5 ประการที่ส่งผลให้เกิดการตกลงพรมแดนเช่นนั้นคือ 1. ชาติและชาติพันธุ์ 2. รัฐสืบทอด 3. เศรษฐกิจและการปกครอง 4. ภาพลักษณ์ประเทศ และ 5. นโยบายจักรวรรดินิยมของอังกฤษต่อดินแดนมลายู สยามอ้างอธิปไตยของตนเหนือราชอาณาจักรปัตตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน) ตรงข้ามกับรัฐมลายูอื่นที่สยามพิจารณาว่าเป็นประเทศราช ส่วนอังกฤษมีนโยบายที่จะไม่ผนวกดินแดนมลายูในฝั่งสยามแต่เลือกที่จะทำอนุสัญญาลับในปี ค.ศ.1897 ซึ่งผลของอนุสัญญาได้เปลี่ยนดินแดนมลายูในฝั่งสยามให้เป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ ในปีค.ศ.1907 สยามเสนอยกดินแดนมลายูของตนแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกอนุสัญญาลับเพื่อจะได้สร้างทางรถไฟสายใต้การเจรจาสำเร็จลงในปี ค.ศ.1909 โดยสยามตกลงโอนดินแดนกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิสและเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ แลกกับการที่อังกฤษยกเลิกอนุสัญญาลับปี ค.ศ.1897 ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือสยาม และให้กู้เงินในการสร้างทางรถไฟ ตามข้อตกลงนี้สยามยังคงเก็บดินแดนมลายูบางส่วนไว้ได้แก่ มณฑลปัตตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) สตูล (แบ่งออกจากไทรบุรี) และตากใบ (แบ่งออกจากกลันตัน)