วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2560
แนวทางการสร้างชาติมาเลเซียของตนกูอับดุล ราห์มาน ค.ศ. 1951-1990
โดย สุรศักดิ์ สาระจิตร์
ดาว์นโหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:91129
บทคัดย่อ
ความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวมลายู จีน และอินเดียในมลายาเป็นหนึ่งในผลกระทบทางประวัติศาสตร์จากลัทธิอาณานิคมของอังกฤษและญี่ปุ่น ก่อนที่มลายาจะได้รับเอกราช รัฐบาลอังกฤษต้องการเห็นความปรองดองระหว่างกลุ่มคนแต่ละเชื้อชาติภายในประเทศ ตนกูอับดุล ราห์มาน (1908 - 1990) นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ได้สร้างความร่วมมือกับกลุ่มผู้นำทั้งสามเชื้อชาติภายในสหพรรค (Alliance Party) ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคอัมโน (the United Malays National Organization - UMNO) พรรคเอ็มซีเอ (Malaysian Chinese Association - MCA) และพรรคเอ็มไอซี (Malaysian Indian Congress - MIC) วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษาว่า ตนกูอับดุล ราห์มานมีแนวทางในการสร้างชาติอย่างไร ในช่วงเวลาก่อนและหลังจากที่มาเลเซียได้รับเอกราช และยังศึกษาถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลวในการสร้างชาติของเขาระหว่าง ค.ศ. 1964 – 1969 อีกทั้งตนกูอับดุล ราห์มานมีบทบาทในการส่งเสริมการสร้างชาติมาเลเซียอย่างไร หลังจากที่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการศึกษาพบว่า ช่วงเวลาก่อนและหลังจากที่มาเลเซียได้รับเอกราช แนวทางการสร้างชาติมาเลเซียของตนกูอับดุล ราห์มานคือ การรักษาอำนาจนำของชาวมลายู และสร้างความปรองดองร่วมกับผู้นำกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ระหว่าง ค.ศ. 1964 – 1969 เขากลับล้มเหลวในการสร้างชาติ ด้วยสาเหตุ 2 ประการ ประการแรก หลัง ค.ศ. 1964 การสร้างความปรองดองดังกล่าวกลับเป็นปัญหา เพราะลีกวนยูกลายเป็นภัยต่ออำนาจนำของชาวมลายู เขาพยายามรณรงค์แนวคิดมาเลเซียของชาวมาเลเซีย เพื่อให้ชาวจีนจำนวนมากต่อต้านสิทธิพิเศษของชาวมลายู ประการที่สอง ตนกูอับดุล ราห์มานต้องยอมมอบผลประโยชน์ให้กับชาวจีน เพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ซึ่งเป็นผลให้เขาไม่สามารถรักษาอำนาจนำของชาวมลายูได้อย่างเต็มที่ การจลาจลทางเชื้อชาติ ค.ศ. 1969 ทำให้ตนกูอับดุล ราห์มานต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บทบาททางการเมืองของเขาจึงกลายเป็นผู้ส่งเสริมความเป็นเอกภาพให้กับพรรคอัมโนตั้งแต่ ค.ศ. 1970 - 1990