วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2559
จาก "โรสซาวด์ มิวสิค" สู่ "บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)" พ.ศ. 2525-2552: การศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจ
โดย สุพลธัช เตชะบูรณะ
ดาวน์โหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:91194

บทคัดย่อ

งานวิจัยเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาอยู่ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก ศึกษาการเปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจทางด้านเพลงไทยสากลของอาร์เอส และประการต่อมาคือ ศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการประกอบธุรกิจของอาร์เอสโดยการขยายไปยังธุรกิจสื่อและธุรกิจอื่นๆ ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการเนื้อหา (content provider) โดยกำหนดระยะเวลาการศึกษาไว้ระหว่าง พ.ศ. 2525-2552 ซึ่งเป็นช่วงที่อาร์เอสยังคงมีสถานะทางธุรกิจในฐานะผู้ให้บริการเนื้อหาอยู่ และงานวิจัยชิ้นนี้จะใช้แนวทางการศึกษาตามรูปแบบของประวัติศาสตร์ธุรกิจ (business history) งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการแสดงข้อเสนอหลักอยู่ 2 ประการเพื่ออธิบายลักษณะการเปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจของอาร์เอสในช่วงเวลาดังกล่าวคือ ประการแรก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของสื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับตัวและกำหนดทิศทางธุรกิจของอาร์เอส และประการต่อมาคือ ลักษณะความเป็นธุรกิจครอบครัวของอาร์เอสถือเป็นข้อดีที่ช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการและการปรับตัวของบริษัทให้เป็นไปอย่างรวดเร็วซึ่งสอดรับกับธรรมชาติของธุรกิจบันเทิงที่ต้องอิงอาศัยกระแสความนิยมในตลาดอยู่ตลอดเวลา จากการศึกษาพบว่า พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจของอาร์เอส สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก พ.ศ. 2525-2534 เป็นช่วงที่อาร์เอสปรับตัวทางธุรกิจจากการเป็นผู้รับจ้างอัดแผ่นเสียงและเทปคาสเสทขาย มาเป็นค่ายเพลงอย่างเต็มตัว โดยเพิ่มส่วนงานการผลิตศิลปินและบทเพลงเข้าไป ทำให้อาร์เอสมีรูปแบบธุรกิจที่ครบวงจรในการดำเนินธุรกิจนี้ ได้แก่ กระบวนการผลิต กระบวนการทำการตลาด และกระบวนการจัดจำหน่าย ส่วนลักษณะทางธุรกิจในช่วงนี้ของอาร์เอสจะมีความเป็นธุรกิจครอบครัวโดยสมบูรณ์ซึ่งจะเห็นได้จากการถือหุ้นที่กระจุกตัวอยู่กับบุคคลในตระกูลเชษฐโชติศักดิ์เป็นส่วนใหญ่ และอำนาจการบริหารจัดการจะรวมศูนย์อยู่ที่เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ช่วงที่สอง พ.ศ. 2525-2545 ถือเป็นช่วงที่อาร์เอสปรับเปลี่ยนแนวทางการทำการตลาดโดยการเจาะกลุ่มผู้ฟังที่เป็นนักเรียน-นักศึกษาเป็นหลักจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง พร้อมกันนี้อาร์เอสยังขยายธุรกิจออกไปในแขนงอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตลาดเพลงอย่างหนึ่ง ประกอบด้วย ธุรกิจสื่อ ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจแฟนคลับ และธุรกิจร้านค้าปลีก ส่วนลักษณะธุรกิจยังคงเป็นแบบธุรกิจครอบครัวอยู่ ดังจะเห็นได้จากการถือหุ้นที่ล้วนกระจุกตัวอยู่กับบุคคลในตระกูลเชษฐโชติศักดิ์ทั้งสิ้น และอำนาจการบริหารจัดการจะรวมศูนย์อยู่ที่สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ช่วงสุดท้าย พ.ศ. 2545-2552 เป็นช่วงที่อาร์เอสแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน พร้อมกับเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อ นั่นคือ การเข้ามาของระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศจนทำให้พฤติกรรมในการบริโภคเพลงของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป เป็นเหตุให้อาร์เอสลดความสำคัญของธุรกิจเพลงลง และหันไปขยายธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจสื่อ ธุรกิจภาพยนตร์และละคร ธุรกิจกีฬา และธุรกิจโชว์บิซ (showbiz) ส่วนลักษณะทางธุรกิจนั้น แม้ว่าอาร์เอสจะมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนแล้วก็ตาม แต่สัดส่วนการถือหุ้นยังคงกระจุกตัวอยู่กับบุคคลในตระกูลเชษฐโชติศักดิ์เป็นส่วนใหญ่เพื่อรักษาอำนาจความเป็นเจ้าของและสิทธิในการบริหารนั่นเอง