วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2559
อุดมคติทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีน: กรณีศึกษากลุ่มผู้นำหอการค้าจีน (พ.ศ. 2488-2540)
โดย วิภาวี สุวิมลวรรณ
ดาวน์โหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:90279

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจและอุดมคติทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีนภายใต้ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2488-2540 ผ่านการพิจารณาลักษณะการดำเนินธุรกิจ กิจกรรมด้านการกุศล ตลอดจนแนวคิดและคุณค่าต่างๆ ที่ผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีนยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยเลือกผู้นำหอการค้าจีน ได้แก่นายมา บูลกุล นายสหัท มหาคุณ นายชิน โสภณพนิช นายสมาน โอภาสวงศ์ และนายเกียรติ วัธนเวคินเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ถือเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจของไทยที่มีบทบาทสำคัญทั้งต่อวงการเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนตลอดมา ผลการศึกษาพบว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจและอุดมคติการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีนมีพื้นฐานที่วางอยู่บนหลักความสัมพันธ์และการบริหารงานแบบครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามเมื่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนแปลงไป การดำเนินธุรกิจของคนเหล่านี้จึงมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ในช่วง พ.ศ. 2488–ทศวรรษ 2520 ผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีนมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่น 3 แนวทางคือ การดำเนินธุรกิจร่วมกับรัฐ การดำเนินธุรกิจภายใต้การเข้าสมาคมธุรกิจ และการดำเนินธุรกิจที่อาศัยการขยายฐานพันธมิตรทางธุรกิจโดยการร่วมทุน ส่วนในทศวรรษ 2520 เมื่อเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงและภาครัฐมีบทบาทต่อภาคธุรกิจลดน้อยลงไป แนวทางการดำเนินธุรกิจร่วมกับรัฐจึงค่อยๆ ลดบทบาทลง ในขณะที่แนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้ความร่วมมือในรูปสมาคมธุรกิจ และการขยายธุรกิจจากการร่วมทุนมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ส่วนในด้านอุดมคติทางธุรกิจ การศึกษาพบว่าอุดมคติทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีนเน้นความสำคัญด้านการตอบแทนสังคมและการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นสำคัญโดยถือว่าการช่วยเหลือสังคมเป็นหน้าที่ทางวัฒนธรรมของผู้ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ อย่างไรก็ดีขอบข่ายของกิจกรรมทางสังคมของผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีนในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกันออกไป โดยมีปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงคือปัญหาการเมืองระหว่างประเทศและมาตรฐานของวัฒนธรรมแห่งชาติที่แตกต่างกัน ในช่วง พ.ศ. 2488–ทศวรรษ 2520 ผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีนเน้นการให้ความช่วยเหลือชาวจีนด้วยกันเองเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องการจรรโลงคุณค่าของพ่อค้าที่ดีตามความเชื่อของวัฒนธรรมจีนเอาไว้และในขณะเดียวกันก็มีการสงเคราะห์ผู้คนในสังคมไทยและดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของชาติไทยหลายประการเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ประกอบการที่ดีและไม่เป็นอันตรายต่อชาติไทย ถัดมาในช่วงหลังทศวรรษ 2520 เมื่อเงื่อนไขการเมืองระหว่างประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง การเป็นจีนไม่ได้เป็นอันตรายต่อชาติไทยอีกต่อไป ผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีนจึงดำเนินกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมจีนและการจรรโลงคุณค่าของความเป็นจีนมากขึ้น ควบคู่กับการรักษาวัฒนธรรมสำคัญตามอุดมคติของชาติไทยนั่นคือการกตัญญูต่อชาติ การส่งเสริมพระพุทธศาสนา และการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์