วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2559
การปฏิบัติต่อเชลยในสยามช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
โดย ภัทรพล สมเหมาะ
ดาวน์โหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:90203

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อเชลยโดยรัฐบาลสยาม ตั้งแต่การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 จนถึงสงครามจบลงในปี พ.ศ. 2461 การศึกษาเน้นประเด็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลสยาม หลักการในการดำเนินนโยบาย ปัจจัยที่ส่งผลต่อหลักการ และความเข้าใจของรัฐบาลสยามต่อกฎหมายนานาชาติ วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาจากหลักฐานชั้นต้น โดยใช้เอกสารกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 6 การศึกษาพบว่านโยบายของรัฐบาลสยามคือการระบายชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี่ออกจากราชการสยาม การกักขังและการถอดสัญชาติเชลย การจับเชลยเน้นไปที่เชลยเพศชายตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป เชลยเพศชายถูกควบคุมตัวโดยกองทัพบกที่โรงพยาบาลปากคลองหลอด ขณะที่เชลยเพศหญิงและเด็กถูกควบคุมตัวโดยตำรวจนครบาลที่คลับเยอรมันในเขตสีลม เรือเยอรมันถูกยึดโดยกองทัพเรือและประกาศขายผ่านศาลทรัพย์เชลย ระเบียบการควบคุมเชลยค่อนข้างผ่อนปรน มีการจัดชนชั้นเชลยเป็น 4 ชนชั้น ตามความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อรัฐบาลสยาม ทหารควบคุมเชลยจากภายนอกค่ายในเวลาปกติ เชลยได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลสยาม เงินเบี้ยเลี้ยงเหล่านี้คือเงินรัฐบาลสยามยึดไว้หรือเงินจากการประมูลทรัพย์สินของเชลยผ่านศาลทรัพย์เชลย การแพทย์เป็นหน้าที่ของแพทย์ประจำค่ายหรือบุคคลภายนอก เชลยสามารถออกไปทำการรักษาที่ภายนอกค่ายผ่านคำอนุญาตของแม่ทัพกองทัพน้อย การรักษาผลประโยชน์และความเป็นอยู่ของเชลยเป็นหน้าที่ของราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำสยาม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยการรับคำร้องของเชลยหรือรัฐบาลเยอรมันแล้วส่งให้รัฐบาลสยามพิจารณา ต่อมา รัฐบาลสยามส่งเชลยไปอยู่ที่อินเดียตามข้อเสนอของรัฐบาลอังกฤษ การศึกษานโยบายต่อเชลยทำให้ค้นพบว่าหลักการปฏิบัติต่อเชลยของรัฐบาลสยามสามารถสรุปได้เป็น 4 หลักการ ได้แก่ การปฏิบัติด้วยความรัดกุม การปฏิบัติด้วยความผ่อนปรน การปฏิบัติโดยคำนึงต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ และอิทธิพลของอังกฤษหรือประเทศสัมพันธมิตรอื่นๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อหลักการทั้ง 4 คือ 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ความมั่นคงของรัฐบาลสยาม ความสัมพันธ์ของเชลย ปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเยอรมัน และการยอมรับจากกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร ประเด็นความเข้าใจของรัฐบาลสยามต่อหลักการนานาชาติ พบว่ารัฐบาลสยามมีความเข้าใจต่อหลักการนานาชาติอย่างดีเยี่ยม รัฐบาลสยามสามารถอ้างกฎนานาชาติบางข้อเพื่อใช้เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง จากการเปรียบเทียบกับอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พบว่าสยามมีความคล้ายกับอังกฤษแค่เปลือกนอก คือมีชุมชนเยอรมันตั้งแต่ก่อนสงคราม มีการใช้พื้นที่สาธารณะในการตั้งค่ายเชลยชั่วคราวและมีการแบ่งชนชั้นเชลย แต่รายละเอียดเบื้องลึกมีความแตกต่าง จากปัจจัยจำนวนเชลยและปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลสยามแตกต่างจากรัฐบาลอังกฤษโดยสิ้นเชิงคือระบอบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งทำให้รัฐบาลสยามดำเนินนโยบายอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดกว่า