วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2558
พัฒนาการธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทศวรรษที่ 2510-2530
โดย กวินวัฒน์ หิรัญบูรณะ
ดาวน์โหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:91758

บทคัดย่อ

ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีพ.ศ.2529-2535ที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้สูงสุดของไทย ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปถือเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ในระบบเศรษฐกิจของไทยที่แต่เดิมพึ่งพาการค้าสินค้าเกษตรมาตั้งแต่ช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ.2398 ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยเกิดขึ้นปีพ.ศ.2509 เมื่อมีการตั้งโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบริษัทไทยเอ็กซ์พอร์ตการ์เมนท์ของนักลงทุนชาวฮ่องกงโดยมีพัฒนาการสามารถแบ่งได้2 ช่วงดังต่อไปนี้คือพ.ศ.2510-2525 และพ.ศ. 2526-2537 แม้ว่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในไทยจะยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากเท่าใดนัก ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปพ.ศ.2510-2525กลับขยายตัวขึ้นได้โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่2และ3ซึ่งมีความต้องการให้เกิดการลงทุนและการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก จึงทำให้เกิดนโยบายสนับสนุนทางด้านการลงทุนและเพื่อการส่งออกจำนวนมากจากภาครัฐ ทั้งนโยบายจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและนโยบายช่วยเหลือทางด้านภาษีเป็นต้น ประกอบกับการเข้าร่วมในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิ่งทอหรือข้อตกลงว่าด้วยการค้าสิ่งทอระหว่างประเทศ(Multi-fibre arrangement)ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกอื่นๆได้ ทิศทางของธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปในระยะนี้จึงเน้นเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ในขณะที่ตลาดในประเทศเริ่มพบการนำตราสินค้าวาโก้เข้ามาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยโดยบริษัทในเครือบริษัทสหพัฒนพิบูล แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยของธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด ในช่วงที่2 แม้ว่าธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังคงผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก แต่ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยกลับได้รับผลกระทบจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิ่งทอ เมื่อประเทศผู้นำเข้าเริ่มมอบโควตาที่ไม่เพียงพอต่อผู้ประกอบการไทยส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มส่งสินค้าเกินโควตาที่ได้รับจนเกิดข้อพิพาทระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ.2525-2526 และปีพ.ศ.2528ซึ่งสหรัฐประกาศห้ามนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากไทย ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกเริ่มประสบปัญหาในเรื่องตลาด ทำให้ผู้ประกอบการจึงต้องแก้ไขปัญหาไปใน2ทิศทางคือ 1.ส่งออกไปยังประเทศนอกสนธิสัญญาสิ่งทอระหว่างประเทศว่าด้วยสิ่งทอให้มากขึ้น 2.ปรับเปลี่ยนมาหาตลาดในประเทศมากขึ้น จึงทำให้พบผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปเดิมหันมาสร้างตราสินค้าของตนเองมากยิ่งขึ้น มีทั้งการนำเข้าลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศและการสร้างตราสินค้าขึ้นเอง ผู้ประกอบการที่นำเข้าตราสินค้ามาจากต่างประเทศมักมีความได้เปรียบกับผู้ประกอบการท้องถิ่นอื่นๆ อาทิ ทุน และการรวมตัวในแนวดิ่งและแนวนอนทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถผลิตวัตถุดิบที่เหมาะสม เป็นต้น ในขณะที่ผู้ประกอบการที่สร้างตราสินค้าขึ้นเองต้องประสบปัญหา โดยการพยายามนำเสนอสินค้าโดยเน้นเรื่องวัตถุดิบและราคาที่ถูกกว่าเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นๆแทน