วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2558
การผลิตสามก๊กในบริบทของสังคมไทย พ.ศ. 2480-2550
โดย ยศไกร ส.ตันสกุล
ดาวน์โหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:91756
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มุ่งศึกษาการผลิตใหม่ของวรรณกรรมจีนคลาสสิกเรื่อง “สามก๊ก” ที่สะท้อนภาพในบริบทของสังคมไทย ระหว่าง พ.ศ.2480-2550 ซึ่งเริ่มมีการผลิตสามก๊กใหม่ที่แตกต่างไปจากแค่การแปลและจากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นำไปสู่การทำให้สามก๊กได้เป็นที่นิยมในสังคมไทยมานาน และมีความร่วมสมัย แตกต่างไปจากวรรณคดีโบราณทุกเรื่องในไทย จากการศึกษาพบว่า สามก๊ก เป็นวรรณคดีจีนคลาสสิกที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมากมาตั้งแต่สมัยโบราณ กระทั่งเริ่มมีการพิมพ์สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่แท้จริงแล้วความนิยมในสามก๊กที่แพร่หลายเข้าสู่คนอ่านทั่วไปนั้น เริ่มเกิดขึ้นจากการผลิตสามก๊กใหม่ของนักเขียนรุ่นครู่ที่เริ่มสร้างผลงานตั้งแต่พ.ศ.2480 ภายใต้บริบทของสังคมไทยในแต่ละช่วงเวลาที่ทำให้นักเขียนและตัวบทของสามก๊กเองได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพสังคมการเมืองไทยด้วยการเป็นนิทานยอดนิยมและเสียดสีการเมืองการเป็นพิชัยสงครามของทหาร แล้วดัดแปลงสู่หนังสือคู่มือหรือ ฮาวทู(How-To) และเป็นหนังสือตลาดที่ขายดี กระทั่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและคอรัปชั่นทางการเมืองในพ.ศ.2540 การผลิตสามก๊กได้มีความจริงจังในด้านของการทำให้เป็นคัมภีร์แห่งความรู้ที่เป็นระบบและอธิบายได้ด้วยหลักการบริหารที่มีความร่วมสมัย อีกทั้งการที่มีนักเขียนและสำนักพิมพ์บางแห่งได้นำสามก๊กมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสะท้อนภาพและพฤติกรรมของนักการเมืองไทยในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและคอรัปชั่น ทำให้สามก๊กมีความร่วมสมัยที่จับต้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนได้มากขึ้น นับว่าเป็นการสร้างที่ทางพิเศษสำหรับสามก๊กในสังคมไทย ดังนั้น การผลิตสามก๊กจึงน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการจะดัดแปลงและผลิตวรรณคดีหรือวรรณกรรมไทยโบราณที่อยู่บนหิ้งให้มีความร่วมสมัยมากขึ้นโดยที่ไม่ได้เสียคุณค่าสาระดั้งเดิมไปได้