วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2531
จอมพล ป. พิบูลสงครามกับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
โดย ถนอมจิต มีชื่น
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:138412

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง จอมพล ป. พิบูลสงครามกับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2495-2500 นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษา ความเป็นมาของการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษในประเทศไทย ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการจัดงานครั้งนี้ ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ รัฐบาลได้จัดให้มีโครงงานใดบ้าง รวมทั้งศึกษาถึงผลของการจัดงาน

การศึกษาค้นคว้าในวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ ผู้เขียนอาศัยการจัดรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากเอกสารชั้นต้น ซึ่งได้แก่บันทึกการประชุมของคณะกรรมการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หนังสือราชการที่โต้ตอบกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และเอกสารที่คณะกรรมการจัดงาน ได้จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ และเอกสารประเภทหนังสือพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2491-2500 อันเป็นสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบกับการใช้เอกสารขั้นรอง ได้แก่ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ บทความ รวมทั้งสารคดีทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับยุคสมัยดังกล่าว และนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ตามระเบียบวิชาการทางประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาถึงเนื้อหาในประเด็นที่เกี่ยวกับงานวิจัย

ผลจากการศึกษาพบว่า ในวาระที่พระพุทธศาสนาเจริญยั่งยืนมาได้ครบ 2,500 ปีหรือที่เรียกว่า 25 พุทธศตวรรษ บรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างก็พากันจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองวาระแห่งการครบรอบนี้เช่นในประเทศพม่า ลังกา อินเดีย ลาว ก้มพูชา และไทย ความคิดเกี่ยวกับการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษในประเทศไทยก็เกิดจากกระแสความคิดเช่นนี้เช่นกัน

สำหรับในประเทศไทยนั้น การครบรอบ 2,500 ปี นอกจากจะมีความสำคัญทางศาสนาแล้ว ยังเกี่ยวพันกับความเชื่อของชาวพุทธในประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อกันว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะมีอายุอยู่ได้เพียง 5,000 ปี และ เมื่อถึงปีพ.ศ. 2500 ก็จะย่างเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อม ดังนั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงต้องการที่จะจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษให้ยิ่งใหญ่เพื่อจะทำให้ประชาชนเห็นว่า ปีพ.ศ.2500 เป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองแทนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อม ประกอบกับในขณะนั้นเป็นช่วงที่จอมพล ป. พิบูลลงครามกำลังประสบปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการแสวงหาความสนับสนุนจากฝ่ายต่าง ๆ และส่วนหนึ่งก็คือความต้องการที่จะได้รับความสนับสนุนจากประชาชน โดยผ่านงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ดังนั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้นำโครงงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมกับการจัดงานฉลอง เช่น การจัดสร้างพุทธมณฑล โครงงานทางด้านสาธารณูปโภค และโครงงานที่เกี่ยวกับเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมมารวมด้วย เพื่อทำให้งานนี้มีความหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงงานเหล่านี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าถึงกำหนดฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จอมพล ป. พิบูลสงครามต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการกรณีการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 สถานะทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงครามเสื่อมลงอย่างมาก ทั้งนี้เพราะถูกโจมตีจากฝ่ายต่าง ๆ ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร และ ไม่สามารถเสด็จในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ดังนั้นรัฐบาลจอมพล บ.พิบูลสงคราม ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับความนิยมจาการจัดงานครั้งนี้ จึงไม่อาจเป็นไปไว้ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทางการเมือง งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษจะไม่ทำให้สถานะทางการเมืองดีขึ้นตามที่ได้คาคไว้ แต่สิ่งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงงานนี้ ก็มีผลในแง่บวกสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ผลประการแรกได้แก่ ผลจากโครงงานพุทธมณฑล ซึ่งก่อให้เกิดการขยายตัวของกรุงเทพ ๆ เพราะโครงงานพุทธมณฑลนั้น มิได้มีความหมายเพียงแค่ตัวพุทธมณฑลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงถนนที่เป็นทางเข้าสู่พุทธมณฑลทั้ง 8 สายอีกด้วย ในปัจจุบัน พุทธมณฑลกลายเป็นแหล่งศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย ดังที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเคยคาดหวัง ไว้เมื่อ 30 บีก่อน และเป็นจุดที่เป็นเครื่องยืนยันถึงความเจริญทางศาสนาอย่างดีที่สุด ส่วนผลอีกประการหนึ่งก็คือ ผลที่เกิดจากโครงงานทางด้านสาธารณูปโภค ยิ่งในยุคต่อมาได้กลายเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้กับรัฐบาลสมัยต่อมา