โดย ผศ.ดร. นิภาพร รัชตพัฒนากุล
สำนักพิมพ์ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Japan Foundation, 2560
(พิมพ์ 2 เพิ่มบทสรุปและดัชนี)

หนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายเพื่อที่จะอธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของข้อพิพาทพรมแดนทางทะเลในระดับความรู้พื้นฐาน ซึ่งมีบทความ หนังสือ ตำราจำนวนหนึ่งได้กล่าวถึงไว้บ้าง แต่ยังขาดงานที่เชื่อมโยงและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างข้อพิพาทในแต่ละส่วนรอบเกาะญี่ปุ่นว่าเป็นกระบวนการเดียวหรือแยกขาดจากกันอย่างไร อีกด้านหนึ่งประเทศคู่กรณีทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน รัสเซีย ต่างพยายามสร้างคำอธิบายทางประวัติศาสตร์เพื่อยืนยันความชอบธรรมของตนในการครอบครองดินแดน ซึ่งคำอธิบายทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นความรู้อีกด้านหนึ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากข้อพิพาทพรมแดน อีกทั้งยังช่วยชี้ให้เห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ยุคโบราณที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันเสมอ

เหตุที่ผู้เขียนใช้กรณีความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้านเป็นตัวอย่างในการทำความเข้าใจปัญหาระหว่างประเทศด้วยมิติทางประวัติศาสตร์และชี้ให้เห็นความสำคัญของความรู้ประวัติศาสตร์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันนั้น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศสมัยใหม่ กล่าวคือ ในบริบทสงครามเย็นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกได้แบ่งออกเป็นสองค่ายสำคัญที่เผชิญหน้ากัน อีกทั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาปกครองญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายปีนับตั้งแต่แพ้สงครามในปี 1945 ถึงปี 1952 และยังคงฐานทัพไว้ที่โตเกียวและโอกินะวะจนกระทั่งปัจจุบัน ญี่ปุ่นจึงเป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ใกล้โซเวียตและจีนมากที่สุดแห่งหนึ่ง ดังนั้นการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของข้อพิพาทพรมแดนของญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน จะช่วยสะท้อนภาพสงครามเย็นที่ซับซ้อนและยังคงดำรงอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแตกต่างกับสงครามเย็นในตะวันตกที่จบลงแล้วในทศวรรษ 1990

สั่งซื้อได้ที่ ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ และ Ituibooks