โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วิศรุต พึ่งสุนทร
สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557
 
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ ครอบคลุมตั้งแต่กำเนิดข้อเขียนประวัติศาสตร์ในยุคกรีกโบราณก่อนเฮโรโดตัสบิดาแห่งประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนถึง “ประวัติศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์” ในศตวรรษที่ 19 ที่กลายมาเป็นมาตรฐานของวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ในโลกปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงบริบททางความคิด รูปแบบของการประพันธ์ การใช้หลักฐาน วิธีการค้นคว้า และแนวคิดการวิเคราะห์ตีความ ของข้อเขียนประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญๆ ในยุคกรีกและโรมันโบราณ สมัยกลาง ยุคเรอเนซองส์ ยุคแสงสว่างและศตวรรษที่ 19
 
ประวัติศาสตร์เป็นรูปแบบข้อเขียนที่มีขนบยาวนานในโลกตะวันตก คำว่า “ประวัติศาสตร์” (history) มีความหมายหลักๆ สองความหมาย ความหมายแรกคือ “สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต” ทั้งเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ ผู้คน รวมถึงความคิดความรู้สึกที่เกิดในอดีต ส่วนความหมายที่สองหมายถึง “ข้อเท็จจริงจากอดีต” หรือ “ความรู้เกี่ยวกับอดีต” เราเข้าถึงความรู้ลักษณะนี้ผ่านร่องรอยที่หลงเหลือมา ทั้งร่องรอยทางวัตถุ การบันทึก ข้อเขียน หรือคำบอกเล่า เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความหมายที่สองของคำว่าประวัติศาสตร์มีส่วนสำคัญในการเข้าถึงอดีต กล่าวคือ เราไม่อาจเข้าถึงประวัติศาสตร์ในความหมายแรกได้โดยไม่ผ่านประวัติศาสตร์ในความหมายที่สอง ประวัติศาสตร์จึงเป็นชุดความรู้รูปแบบหนึ่งที่ผ่านตัวกลางทั้งทางวัตถุและทางภาษา เราไม่สามารถเข้าถึงอดีตได้นอกจากผ่านร่องรอยที่ซีดจางไปตามกาลเวลา ระบบความรู้ความคิดและการรับรู้ทั้งจากปัจเจกและสังคมก็ล้วนมีความแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ทั้งยังเป็นเส้นแบ่งการเข้าถึงความรู้ชุดนี้ด้วย ประวัติศาสตร์จึงเป็นทั้งชุดความรู้และระบบความรู้เกี่ยวกับอดีต