โดย ผศ.ศุภวิทย์ ถาวรบุตร

สำนักพิมพ์ Illuminations Editions

“...สังคมไทยอาจเคยชินที่จะคิดว่าคณิตศาสตร์คือการคำนวณ เป็นการเรียนเพื่อมุ่งจะหาคำตอบว่าบรรดาสมการหรือวิธีคิดอันซับซ้อนต่างๆ เมื่อคำนวณแล้วท้ายที่สุดจะต้องได้ ‘คำตอบ’ ออกมา เป็นโจทย์ที่ต้องเฉลย  ซึ่งเป็นการมองโดยเน้นที่ ‘ผลลัพธ์’ และ ‘การใช้ประโยชน์’   ทั้งที่ในความเป็นจริง หัวใจของการศึกษาคณิตศาสตร์คือการอาศัยตรรกะเพื่อนำไปสู่คำตอบที่เชื่อถือได้ว่าถูกต้อง 

ความสำคัญของคณิตศาสตร์อยู่ที่ ‘กระบวนการ’ ไม่ใช่ ‘ผลลัพธ์’ เพราะกระบวนการจะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า วิธีคิดใดมีตรรกะรองรับและตรรกะนั้นถูกต้องหรือไม่   หากเปรียบการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ใดๆ  เป็นเหมือนการเดินทาง การคำนวณด้วยตัวเลขให้ได้ผลลัพธ์ถือเป็นเพียงก้าวสุดท้ายของการเดินทาง ขณะที่การคิดตามตรรกะเชิงคณิตศาสตร์คือทุกก้าวก่อนหน้านั้น...”

“มองอย่างกว้างๆ หนังสือเล่มนี้มีข้อเสนอหลักว่า การเกิดและเติบโตของวิทยาศาสตร์ในสังคมตะวันตกเป็นการเติบโตทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เป็นมากกว่าชัยชนะขององค์ความรู้ในแบบปฏิบัตินิยม    ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมยุโรปข้ามพ้นโลกทัศน์เก่าในช่วงเวลาสำคัญที่สุดทางภูมิปัญญา แนวคิดและสถาบันต่างๆ ปะทะกันจนกระทั่งสถาปนากรอบคิดที่เป็นแก่นของระบบภูมิปัญญาสมัยใหม่ได้   หนังสือนี้สนใจเรื่องราวที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการดังกล่าวและนำแนวทางมาใช้สำรวจต้นกำเนิดของวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์ทางความคิดในช่วงเวลานั้น”

Q&A ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ผู้เขียน ‘กุญแจแห่งฟากฟ้า: เรขาคณิตวิเคราะห์ จากกรีกโบราณถึงนิวตัน’

Q: ช่วยเล่าเรื่องของตัวเองเล็กน้อย ว่าทำไมจบปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในปี 41 ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 แต่กลับเลือกมาทำปริญญาโทต่อที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. จนจบในปี 46? คือก่อนต่อโท อาจารย์ยังมีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) และได้ใช้วิชาที่เรียนมาทางเศรษฐศาสตร์อีกด้วย ทำไมไม่เลือกเรียนโทต่อในคณะเศรษฐศาสตร์ แต่กลับมาเรียนต่อที่ภาคประวัติศาสตร์
A: ผมชอบเศรษฐศาสตร์นะ ขณะที่เรียนก็สนุกกับมันอย่างเต็มที่ เรียนจบทำงานก็ค่อนข้างตรงสายอีก แต่ส่วนตัวชอบประวัติศาสตร์มานาน ซึ่งชอบแบบงูๆ ปลาๆ ชอบอ่านแต่ไม่ได้คิดจะยึดเป็นวิชาชีพ และสมัยเรียน ป.ตรี เคยมีโอกาสมาลงวิชาประวัติศาสตร์บ้าง เจอกับอาจารย์ที่สอนเก่ง มีเกร็ดความรู้เยอะ จึงรู้สึกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยสนุก ไม่เหมือนเรียนในโรงเรียน...
 
อ่านฉบับเต็มได้ใน