เสียดินแดนในแบบเรียนไทย สมัยรัชกาลที่ 5 ถึง พ.ศ.2487
โดย อ.ดร.วาสิฏฐี ชัยขันธ์
ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.จุฬาพร เอื้อรักสกุล
สรุปโดย วิราวรรณ นฤปิติ
สมัยรัชกาลที่ 5 แบบเรียนซึ่งมีผู้แต่งเป็นชาวต่างชาติหรือชาวไทยที่ได้รับการศึกษาจากเมืองนอก ส่วนมากบรรจุความรู้ทางภูมิศาสตร์ พงศาวดาร การอ่านแผนที่ แต่ยังไม่มีวิชาประวัติศาสตร์และยังไม่มีการอธิบายเรื่องเสียดินแดน จนกระทั่ง ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2446) ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามารุกรานยังแม่น้ำเจ้าพระยา แบบเรียนจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีการสอนเรื่องเสียดินแดนในเวลาต่อมาคือราวทศวรรษ 2460 องค์ความรู้เรื่องเสียดินแดนถูกบรรจุไว้พร้อมกับวิชาประวัติศาสตร์ไทยแบบราชอาณาจักร ที่เน้นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโบราณมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ณ ช่วงเวลาหลังจากนี้ การศึกษาได้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงธรรมการ ซึ่งได้ตีพิมพ์แบบเรียนในลักษณะดังกล่าวและใช้สอนในโรงเรียนอย่างแพร่หลาย ผู้แต่งแบบเรียนได้แก่ครูชาวไทยที่แต่งตำราและส่งไปยังกระทรวงธรรมการเพื่อตรวจสอบ หากตำรานั้นได้รับการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิก็จะได้รับการตีพิมพ์
ราวทศวรรษที่ 2470 เป็นต้นมา แนวคิดเรื่องเสียดินแดนไม่ใช่เพียงแพร่หลายอยู่ในแวดวงการศึกษาเท่านั้น เนื่องจากมรดกของการศึกษาสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้แนวคิดเรื่องเสียดินแดนแพร่กระจายไปยังคนทุกกลุ่มทุกชนชั้นที่ได้รับการศึกษาภาคปฐมจากรัฐ ในช่วงนี้มีการจัดพิมพ์แบบเรียนทั้งแบบเก่าและแบบปรับปรุงใหม่ขึ้นมาก องค์ความรู้เรื่องเสียดินแดนจึงแพร่ไปพร้อมกับองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ไทย เพิ่มเติมด้วยรูปแบบการนำเสนอด้วยแผนที่ ยิ่งทำให้องค์ความรู้เป็นที่เข้าใจมากยิ่งขึ้นจากการทำให้องค์ความรู้มาอยู่ในรูปแบบภาพประกอบ หลัง พ.ศ. 2475 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำให้องค์ความรู้เรื่องเสียดินแดนอยู่ในพื้นที่ทางการเมือง มรดกตกทอดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงไม่ได้ตายลงไปแต่กลับถูกปลุกขึ้นมารับใช้แนวทางชาตินิยมทางการทหารในสมัยต่อมา