"แม่บ้านการเมือง: ภรรยาคณะราษฎรกับการปฏิวัติ 2475 ผ่านอุดมการณ์ครอบครัว"
ชานันท์ ยอดหงส์ วิทยากร
ผศ.ดร. เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ดำเนินรายการ
วิราวรรณ นฤปิติ สรุปงานสัมมนา
กรอบคิดสำคัญของหัวข้อนี้คือ วิทยากรนำเสนอความเป็นสมัยใหม่ที่มองผ่านการศึกษากรอบคิดเพศสภาพ (Gender) วิทยากรได้ศึกษาบทบาทของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ไทย โดยในช่วงต้นมีการเล่าถึงบริบทของผู้หญิงในสังคมจารีตว่าส่วนมากแล้วสตรีในรั้วในวังมีสถานะที่ไม่เท่าเทียมกับบุรุษ ทักษะ ความรู้ต่างๆ ที่สอนในวังก็ทำเพื่อความสวยงามหรือเป็นที่บันเทิงใจต่อบุรุษเท่านั้น อาทิ งานเย็บปักถักร้อย การรำละคร เป็นต้น เรียกได้ว่าบทบาทสตรีในสังคมปิตาธิปไตยมีอยู่อย่างจำกัด ต่อมาเมื่อมีการศึกษาแบบแผนตะวันตกเข้ามาแพร่หลายในสยาม การศึกษาสมัยใหม่นี้ทำให้เกิดสำนึกความเท่าเทียมเกิดขึ้นระหว่างครูและนักเรียนขึ้น
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากสามัญชน ขึ้นมามีบทบาทนำบนพื้นที่ทางการเมือง ผลที่ตามมาก็คือเป็นการสร้างอุดมการณ์ครอบครัวขึ้น ในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับสังคมจารีต สตรีชนชั้นกลางได้รับเกียรติทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านไม่แพ้บรรดาสามีของพวกเธอ พวกเธอเป็นทั้ง เมีย แม่ มิ่ง มิตร ผู้โลดแล่นอยู่ในรัฐประชาชาติ บทบาทของสตรีในสังคมใหม่มีทั้งการส่งเสริมสุขภาพสตรี การเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการ การสาธารณะสุข และงานสังคมสงเคราะห์ ในระหว่างช่วง 2480 – 2490 ดูเหมือนว่ามีการแบ่งแยกบทบาทและหน้าที่ของสตรีและบุรุษขึ้น งานหน้าบ้านเป้นของบุรุษและงานหลังบ้านเป็นของสตรี แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะสามารถเห็นได้จากสตรีคนสำคัญผู้เป็นภริยาของนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนสามีของพวกเธอได้อย่างลงตัว อาทิ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นต้น