รองเท้าในประวัติศาสตร์ไทย: จากสินค้าหรูหราในราชสำนักสู่ตลาดมวลชน

Dr Thomas Richard Bruce วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการและสรุปประเด็นโดย อ.ดร. วาสิฏฐี ชัยขันธ์

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้อง ศศ.307

ประเด็น: วิวัฒนาการของวัฒนธรรมการใส่รองเท้าและอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าในไทย 

การใส่รองเท้าเริ่มแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงในช่วง หลังพ.ศ. 2398 หรือช่วงหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่งซึ่งสยามรับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น ต่อมาเมื่อมีการกำหนดการใส่เครื่องแบบของข้าราชการได้มีการกำหนดการใส่รองเท้าเอาไว้ด้วย การใส่รองเท้าเริ่มขยายออกไปสู่มวลชนมากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 6  ด้วยเหตุผลสำคัญคือเพื่อป้องกันพยาธิปากขอ
เมื่อถึงสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามในช่วงทศวรรษ 2480 รัฐบาลประกาศนโยบายรัฐนิยมให้คนใส่รองเท้า ดังนั้นการใส่รองเท้าจึงกลายเป็นข้อบังคับสำหรับประชาชน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าเจริญเติบโตขึ้นในประเทศ ประกอบกับรองเท้ามีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งรองเท้าหนังและรองเท้าผ้าใบ คนจึงหันมาใส่รองเท้าอย่างแพร่หลายและกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำในการดำเนินชีวิตประจำวัน

การผลิตรองเท้าในสยามนั้น สันนิษฐานว่าเริ่มโดยกลุ่มชาวจีนแคะที่มีความเชี่ยวชาญในการฟอกหนัง นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนของมิชชันนารีที่ลำปางที่ฝึกหัดคนทำหนังเกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เมื่ออุตสาหรรมรองเท้าขยายตัวขึ้นอุตสากรรมโรงฟอกหนังก็เติบโตตามขึ้นมาด้วย เนื่องจากหนังเป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในการทำรองเท้า ต่อมามีการก่อตั้งโรงเรียนช่างหนังขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2470 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำหนังซึ่งส่วนหนึ่งคือเพื่อผลิตรองเท้า ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการนำเครื่องมือที่ช่วยในอุตสาหกรรมฟอกหนังและผลิตรองเท้าเข้ามาในประเทศไทยเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจรองเท้า บริษัทรองเท้าทั้งของต่างชาติและไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น บาจา นันยางและสหพัฒนพิบูล สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมรองเท้าประสบความสำเร็จอย่างมากควบคู่ไปกับความนิยมรองเท้าที่แพร่หลายมากในประเทศไทย