แรงงานเสรีในศตวรรษที่ 19: กรณีศึกษาลูกเรือชาวครู

(Free Wage Labourers in the Nineteenth Century: The Case of Kru Mariners)

โดย Jeff Gunn, York University, Canada

ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร. เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้อง ศศ. 307

สรุปโดย วิราวรรณ นฤปิติ

การนำเสนอหัวข้อนี้มาจากงานวิจัยระดับปริญญาเอก ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอาณานิคมอังกฤษเหนือแรงงานพื้นเมืองในทวีปแอฟริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคที่จักรวรรดินิยมเฟื่องฟูช่วงสุดท้ายก่อนการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 และตามมาด้วยสงครามเพื่อการปลดปล่อยในอีกหลายภูมิภาค ชาวครู (Kru) เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา ลักษณะภูมิประเทศของที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นหมู่เกาะ ชาวครูไม่ได้ส่งผลผลิตทางการเกษตรที่จะสามารถสร้างผลกำไรแก่การค้าอาณานิคมได้มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ใต้อาณานิคมอื่น อาทิ เอเชียใต้ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองกับเจ้าอาณานิคมผิวขาวจึงต้องปรับตัวเป็นการขายแรงงานเพื่อแลกกับค่าตอบแทน ทั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าเผ่าผู้ปกครองชนพื้นเมืองเดิมกับชาวครูและเจ้าอาณานิคมด้วย จากการที่ลูกเรือชาวครูเข้าสู่ระบบแรงงานเสรีมากขึ้นตามความต้องการของเจ้าอาณานิคม แม้ว่าจะเกิดการใช้กำลังและอาวุธเพื่อเป็นการบังคับบ้างก็ตามที แต่ก็แสดงให้เห็นว่าระบอบการปกครองดั้งเดิมของชนเผ่าเป็นไปอย่างหลวมๆ ไม่ได้มีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ จึงไม่สามารถรวบรวมกำลังคนเพื่อต่อต้านได้ และการไม่มีทรัพยากรอย่างพรักพร้อมจึงไม่สามารถจัดหาอาวุธได้ เมื่อเผชิญกับอำนาจทางเศรษฐกิจของเจ้าอาณานิคม ในอีกด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของสังคมชนเผ่าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราอย่างช้าๆ ด้วยเช่นกัน