พระอินทร์ในคติพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่พบในงานศิลปกรรมไทย
โดย ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์
ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.วิศรุต พึ่งสุนทร
สรุปโดย วิราวรรณ นฤปิติ
พระอินทร์เป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กำเนิดของพระอินทร์นั้นสืบจากคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ได้ตั้งแต่ยุคสมัยพระเวท ต่อมาคือยุคอิติหาส หรือยุคมหากาพย์ (เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องเล่ามหากาพย์รามายณะและมหาภารตะ) ทั้งสองยุคนี้ล้วนแล้วแต่เกิดก่อนศาสนาพุทธทั้งสิ้น [พุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้นแยกออกจากนิกายมหาสังฆิกะหรือต้นเค้าของนิกายมหายานในการสังคายนาครั้งที่ 2 ราว พ.ศ. 100 หรือ 443 ปีก่อนคริสต์ศักราช] แสดงให้ถึงการรวมเอาคติเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์เข้ามาไว้ด้วยกันกับคติศาสนาพุทธเถรวาทซึ่งเกิดขึ้นทีหลัง ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ ได้นำเสนอหลักฐานจากงานศิลปกรรมด้วยข้อมูลที่ละเอียดละออว่า มีการสร้างรูปเคารพพระอินทร์ในฐานะผู้ติดตามหรือสาวกของพระพุทธเจ้าในศิลปะอินเดียสมัยคันธาราฐ ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมยุคต้นๆ ราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 ที่ช่างชาวอินเดียได้อิทธิพลจากศิลปะกรีก-โรมันค่อนข้างมาก
รูปแบบทางประติมาณวิทยาของพระอินทร์มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยหรือความนิยมในงานช่าง ซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมากที่วิทยากรแบ่งประเด็นออกมานำเสนอที่ไม่สามารถกล่าวได้ทั้งหมดในการสรุปนี้ได้ โดยจะยกตัวอย่างอาทิ พระอินทร์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ เป็นส่วนประกอบของคติการสร้างรูปเคารพบูชาพระพุทธเจ้าตามพุทธประวัติ ซึ่งไม่มีรูปของพระพุทธเจ้าในลักษณะบุคคลอยู่ในนั้น เป็นต้น หรือรูปแบบที่แปลกตาอื่นๆ อย่างการสร้างพระอินทร์มีสามพระเนตร ซึ่งพบในศิลปะเขมรแบบบายน และในไทยพบรูปแบบเดียวกันที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลด้านคติการสร้างและรูปแบบศิลปะเดียวกัน สีกายของพระอินทร์เป็นสีเขียวเพียงอย่างเดียวหรือไม่? ประเด็นนี้วิทยากรกล่าวว่าไม่จำเป็นเสมอไป ขึ้นอยู่กกับการตีความคัมภีร์ทางศาสนาและความนิยมในงานช่างอีกเช่นกัน อาทิ ในศิลปอยุธยามีการวาดจิตรกรรมฝาผนังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โดยมีการวาดเจดีย์จุฬามณีเป็นส่วนประกอบ เจดีย์อันเป็นสถานที่ที่ใช้เก็บสิ่งของบูชาพระพุทธเจ้าได้แก่ เครื่องอัฐะบริขารและพระธาตุ ช่างชาวอยุธยาตีความว่าแก้วอินทนิลหรือพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นสีเขียว พระอินทร์ซึ่งมีชื่อที่พ้องกัน จึงถูกกำหนดลักษณะให้เป็นสีเขียวไปด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะไทย (ศิลปะเขมรพบว่ามีการสร้างพระอินทร์สีน้ำเงินเป็นต้น)
นอกจากนี้คติที่กลืนกลายของพระอินทร์ในศาสนาพุทธเถรวาทยังปรากฏขึ้นอีกมากมายทั้งในงานสถาปัตยกรรม คัมภีร์ศาสนา อาทิเช่น การสร้างคำอธิบายคติการสร้างปราสาทหินนครวัด ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเดิมทีเป็นงานศิลปกรรมเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไวศณพนิกาย สร้างโดยพระเจ้าสุริยวรมัน ที่ 2 (ราวพุทธศตวรรษที่ 16) ว่าเป็นคติการสร้างสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในศาสนาพุทธมหายาน อันมีพระอินทร์ประทับอยู่บนนั้น นอกจากนั้นยังมีการรวมพระอินทร์เข้าไปในคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถา หรือพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ตอนเสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยเช่นกัน กระทั่งล่วงลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 24 การหยิบยกพระอินทร์มาเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธี 12 เดือนในรัชกาลที่ 5 เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงคติทางศาสนาและพิธีกรรมที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ ระหว่าง พุทธ พราหมณ์ ผี ซึ่งเป็นระบอบความเชื่อตามจารีตที่เกาะเกี่ยวกันอยู่จนแยกออกจากกันไม่ได้ จากที่กล่าวมาประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการกลืนกลายของพระอินทร์ในพุทธศาสนาเถรวาท ที่พบในงานศิลปกรรมและคัมภีร์ศาสนาในกลุ่มประเทศที่นับถือตั้งแต่ใน อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา พม่า ลาว และไทย เป็นการแสดงให้เห็นถึงการขึ้นมามีอำนาจนำของพุทธศาสนาเถรวาทเหนือคติทางศาสนาเก่าคือ พราหมณ์-ฮินดู ตั้งแต่เริ่มมีการแยกนิกายและเผยแผ่พุทธศาสนาเถรวาทเป็นต้นมา