สมัยเรียน ป.ตรี ลงวิชาประวัติศาสตร์ รู้สึกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยสนุก ไม่เหมือนในโรงเรียน

Q&A ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ผู้เขียน ‘กุญแจแห่งฟากฟ้า: เรขาคณิตวิเคราะห์ จากกรีกโบราณถึงนิวตัน’

โดย สำนักพิมพ์ Illuminations editions  (อ่านฉบับเต็มได้ใน FB ของสำนักพิมพ์)

‘กุญแจแห่งฟากฟ้า: เรขาคณิตวิเคราะห์ จากกรีกโบราณถึงนิวตัน’ เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของวิชาคณิตศาสตร์ นั่นคือวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ (Analytic Geometry) ซึ่งมีส่วนสำคัญมากกับการเกิดขึ้นของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific revolution) ในยุโรประหว่างศตวรรษที่ 16-17 นอกจากจะมีเนื้อหาที่น่าสนใจด้านประวัติศาสตร์คณิตศาสตร์แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีลักษณะของการเล่าเรื่องเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีสูตรทางคณิตศาสตร์ต่างๆ มาทำให้ผู้อ่านต้องปวดหัวมากนัก ที่สำคัญบ้านเรายังมีคนเขียนหนังสือที่มีเนื้อหาแบบนี้น้อยมาก การเขียนงานโดยคนไทยที่สอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นอาชีพ น่าจะทำให้ผู้อ่านคนไทย สามารถเข้าใจเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้ง่ายขึ้น โดยในปัจจุบันเราได้เห็นคือการแปลหนังสือประเภท Popular Science ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ที่เขียนเองโดยคนไทย ยังมีจำนวนน้อยอยู่
 
สำนักพิมพ์ Illuminations Editions จะพาทุกท่านรู้จักกับอาจารย์ ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ปัจจุบันศุภวิทย์ทำงานเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
Q: ช่วยเล่าเรื่องของตัวเองเล็กน้อย ว่าทำไมจบปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในปี 41 ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 แต่กลับเลือกมาทำปริญญาโทต่อที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. จนจบในปี 46? คือก่อนต่อโท อาจารย์ยังมีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) และได้ใช้วิชาที่เรียนมาทางเศรษฐศาสตร์อีกด้วย ทำไมไม่เลือกเรียนโทต่อในคณะเศรษฐศาสตร์ แต่กลับมาเรียนต่อที่ภาคประวัติศาสตร์
A: ผมชอบเศรษฐศาสตร์นะ ขณะที่เรียนก็สนุกกับมันอย่างเต็มที่ เรียนจบทำงานก็ค่อนข้างตรงสายอีก แต่ส่วนตัวชอบประวัติศาสตร์มานาน ซึ่งชอบแบบงูๆ ปลาๆ ชอบอ่านแต่ไม่ได้คิดจะยึดเป็นวิชาชีพ และสมัยเรียน ป.ตรี เคยมีโอกาสมาลงวิชาประวัติศาสตร์บ้าง เจอกับอาจารย์ที่สอนเก่ง มีเกร็ดความรู้เยอะ จึงรู้สึกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยสนุก ไม่เหมือนเรียนในโรงเรียน ระหว่างที่ทำงานหลังเรียนจบ ซึ่งไม่ต้องเน้นอ่านหนังสือเรียนหรือตำราเหมือนสมัยเรียน ช่วงนั้นอยากอ่านหนังสืออะไรก็ซื้ออ่านทั้งหมด ส่วนมากเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ตามความชอบส่วนตัว พอได้อ่านมากเข้ารู้สึกสนุก เจอเพดานความรู้อีกมากที่การเรียนประถมมัธยมไปไม่ถึง ตอนนั้นอ่านประวัติศาสตร์ไทยเยอะ อ่านทั้ง นิธิ สุเนตร สมศักดิ์ ธงชัย ฯลฯ อ่านไปคิดไปว่าทำไมตอนเรียนในแบบเรียนไม่สนุกอย่างนี้ เมื่อได้อ่านมากเริ่มอยากเขียน เคยลองเขียนบทความส่งไปศิลปวัฒนธรรม เขาให้ลงตีพิมพ์ ดีใจมาก ทั้งหมดเหมือนโดนประวัติศาสตร์ดึงดูดเข้าหาเรื่อยๆ เมื่อชีวิตวนเวียนกับการอ่าน คิด เขียน ติดตามการดีเบตต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ก็เลยคิดว่าลองเรียนประวัติศาสตร์ดูสักหน่อย จะได้รู้ว่าที่เรียนแบบจริงจังเขาเรียนกันอย่างไร ส่วนแรกที่เล่ามานี้เกี่ยวกับ passion เป็นหลักครับ
 
ส่วนในแง่วิชาการเริ่มมีมุมมองว่า เศรษฐศาสตร์ก็ดีนะ เรียนสนุก แต่เศรษฐศาสตร์ (ซึ่งยิ่งเรียนสูง ยิ่งเน้น mathematical model) ไม่ตอบสนองความใคร่รู้ของเราทั้งหมด เคยเรียนกับ อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ซึ่งท่านสอนวิชาเศรษฐกิจประเทศไทย พัฒนาการหลายเรื่องที่เราฟังแล้ว เรียนแล้วรู้สึกเลยว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ตอบได้ทั้งหมด ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทย บทบาทสหรัฐฯ ในยุคสมัยอเมริกัน หรือการอธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐกิจการเมืองของรัฐบาลทั้งทหารและพลเรือนในอดีต หลัง 14 ตุลาเกิดอะไรขึ้นในสังคมเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนขั้วอำนาจกันอย่างไร ฯลฯ เราต้องทำความเข้าใจกับชุดความสัมพันธ์เยอะมาก จึงจะเข้าใจจุดยืนของใครต่อใครในเรื่องต่างๆ นี่เป็นอีกเหตุผลที่รู้สึกว่า ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ ไม่รู้บริบทอะไรเลย ต่อให้มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ก็อาจทำความเข้าใจเรื่องราวความเป็นมาในสังคมไม่ได้ทั้งหมด

 ................................