ประวัติศาสตร์ศิลปะแบบที่ผมถูกเทรนมา เน้นบริบทมากกว่ารูปแบบศิลปะ...ทำให้ผมเลือกที่จะมาเป็นอาจารย์อยู่ในสาขาประวัติศาสตร์

โดย สำนักพิมพ์ Illuminations editions  (อ่านฉบับเต็มได้ใน FB ของสำนักพิมพ์)

สนทนากับ รศ. วิศรุต พึ่งสุนทร ผู้เขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์ความลับ: ความคิดทางการเมืองจากยุคโบราณถึงสมัยใหม่ กับการเปิดเผยการปกปิด การมีความลับและความเร้นลับในทางการเมืองซึ่งผูกโยงกับบางอย่างของสังคม และเข้าใจถึงการอธิบายความเป็นมาและข้อถกเถียงเรื่องความลับในทฤษฎีทางการเมือง การส่งผ่านและสืบสายทางความคิดตั้งแต่อายุโบราณมาถึงยุคต้นสมัยใหม่ที่จะทำให้ผู้อ่าน ‘หูตาสว่าง’

Q: อาจารย์วิศรุตจบด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ศิลปะ แล้วมาสอนด้านประวัติศาสตร์ได้อย่างไร?
A: ผมจบปริญญาตรีสาขาออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนั้นอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ต่อมาผมมาเรียนปริญญาโทในสาขา Visual culture ซึ่งในความเป็นจริงก็คือประวัติศาสตร์ศิลปะในแบบหนึ่ง และเรียนปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องประวัติศาสตร์ของวาทกรรมเรื่องบาดแผลในช่วงศตวรรษที่ 19 และครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะแบบที่ผมถูกเทรนมา เป็นสายที่เน้นเรื่องของบริบทมากกว่าในแง่ของรูปแบบศิลปะหรือเรื่องของการสร้างสรรค์ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากจารีตของวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในบ้านเรา ที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นความรู้เสริมให้กับผู้ที่อยู่ในวิชาชีพศิลปะและการออกแบบ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเลือกที่จะมาเป็นอาจารย์อยู่ในสาขาประวัติศาสตร์มากกว่าประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งในความเป็นจริงทั้ง 2 สาขาค่อนข้างจะแยกขาดจากกันทั้งในแง่การก่อกำเนิดและการเป็นความรู้ทางวิชาการในปัจจุบัน
Q: ปัจจุบันอาจารย์เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ อาจารย์สอนวิชาอะไรบ้าง?
A: หลักๆเลย ผมสอนวิชาประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก ระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่และประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก วิชาปริญญาตรีที่สอนมาต่อเนื่องก็คือประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก ประวัติศาสตร์ศิลปะที่ไม่ค่อยได้เปิด ส่วนเรื่องของระเบียบวิธีเป็นของหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก
Q: วิชาประวัติศาสตร์นิพนธ์นี่คืออะไร?
A: ประวัติศาสตร์นิพนธ์คืออะไร คำนี้มาจากคำว่า historiography ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลตรงๆ ก็หมายถึง “การเขียนประวัติศาสตร์” เนื่องจากประวัติศาสตร์มีทั้งส่วนที่เป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงหรือจะเรียกว่าเนื้อหา กับส่วนที่เรียกว่าเป็นการเขียน วิธีการค้นคว้า หรือแนวคิดเกี่ยวกับการเขียนในการค้นคว้า ซึ่งในความเป็นจริงทั้งสองส่วนนี้ไม่ได้แยกขาดจากกัน ถ้าพูดง่ายๆก็คือความรู้ด้านประวัติศาสตร์มีมากกว่าข้อมูลใดเป็นจริงหรือเป็นเท็จ แต่มีมิติอื่นๆเช่นการค้นคว้า การเขียน การนำเสนอและรวมไปถึงมิติของการประพันธ์ ที่ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นชุดความรู้ขึ้นมา เนื้อหาที่ผมสอนเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ของการเขียนประวัติศาสตร์ในโลกตะวันตก หรือจะพูดง่ายๆก็คือศึกษางานเขียนประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญและศึกษาบริบท ตั้งบริบททางความคิด บริบททางการเมืองบริบททางสังคมที่ทำให้ข้อเขียนเหล่านั้นเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา
Q: แล้วส่วนของระเบียบวิธีการทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คืออะไร?
A: ในส่วนที่ผมสอน ผมพูดถึงแนวทางการค้นคว้าในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 ที่การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ได้นำเอากรอบวิธีคิด การตั้งคำถาม รวมไปถึงทฤษฎีมาจากสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สาขาอื่นๆ เช่น สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ มนุษย์วิทยา ซึ่งเราก็จะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ซึ่งได้กลายเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักไปแล้ว
 
...