โดย ผศ.นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์

สำนักพิมพ์ ยิปซี

สงครามกลางเมืองสเปนเริ่มต้นขึ้นเมื่อทหารก่อรัฐประหารในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้าย ทหารวางแผนว่าจะยึดอำนาจอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าสถานการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ การยึดอำนาจล้มเหลวในหลายเมือง ประเทศสเปนแตกออกเป็นสองเสี่ยง ซีกหนึ่งฝ่ายกบฏทหารยึดครองโดยมีนายพลฟรานซิสโก ฟรังโกเป็นผู้นำ อีกซีกหนึ่งฝ่ายรัฐบาลยังคงกุมอำนาจเอาไว้ได้ มหาอำนาจในยุโรปไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสหภาพโซเวียตต่างกระโจนเข้าร่วมสงครามกลางเมืองสเปนในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ความขัดแย้งภายในประเทศพัฒนากลายเป็นสงครามนานาชาติที่ยืดเยื้อถึงสามปีและนำพาหายนะมาสู่ประเทศสเปน

สงครามกลางเมืองสเปนทำให้พี่น้องร่วมชาติหันมาเข่นฆ่ากันเองอย่างโหดร้ายทารุณ ชาวสเปนประมาณ 5-6 แสนคนเสียชีวิตระหว่างสงคราม และอีก 4 แสนคนที่ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ชาวสเปนทุกคนเผชิญกับความทุกข์ยากจากสงครามไม่ว่าโดยตรงก็โดยอ้อม ยิ่งไปกว่านั้น สงครามกลางเมืองเป็นการสู้รบที่ผลาญทรัพย์สมบัติของชาติอย่างแท้จริง ฝ่ายรัฐบาลใช้ทองคำสำรองทั้งหมดในการทำสงคราม ในขณะที่ฝ่ายนายพลฟรังโกใช้วิธีกู้ยืม นั่นเท่ากับว่าฝ่ายหนึ่งนำเงินปัจจุบันมาใช้ อีกฝ่ายหนึ่งนำเงินอนาคตมาใช้ ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลังจากที่สงครามยุติ ประเทศสเปนจะจมดิ่งลงสู่วิกฤตเศรษฐกิจและอยู่ในสภาพที่แร้นแค้น

 

แปลโดย ผศ.นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์ และ อ.วรภัทร ดิศบุณยะ

สำนักพิมพ์ ยิปซี, 2560

หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์เม็กซิโก (ฉบับปรับปรุงใหม่)’ เป็นหนังสือที่คนเม็กซิกันรู้จักกันดีและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เม็กซิโกที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในประเทศเม็กซิโก วิทยาลัยเม็กซิโกจัดพิมพ์หนังสือเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1973 และมีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 250,000 เล่ม ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆมากถึง 14 ภาษา ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 วิทยาลัยแห่งเม็กซิโกได้ปรับปรุงเนื้อหาของหนังสือใหม่เพื่อให้ทันสมัยและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์เม็กซิโก (ฉบับปรับปรุงใหม่)’ มีความกระชับและชัดเจน ความโดดเด่นส่วนหนึ่งอยู่ที่ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเม็กซิโกตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปี ค.ศ. 2000 อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่การนำเสนอประวัติศาสตร์โดยย่อและในมุมกว้าง โดยผู้เขียนทั้ง 7 ท่านได้คัดสรรเนื้อหาที่จำเป็นในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์เม็กซิโก ทั้งนี้ ผู้อ่านชาวไทยจะได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวความเป็นมาของประเทศที่รู้สึกว่าห่างไกลและเป็นโลกที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก และนี่คือประวัติศาสตร์ของชาติที่มีความหลากหลายและซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

โดย ผศ.ดร. นิภาพร รัชตพัฒนากุล
สำนักพิมพ์ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Japan Foundation, 2560
(พิมพ์ 2 เพิ่มบทสรุปและดัชนี)

หนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายเพื่อที่จะอธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของข้อพิพาทพรมแดนทางทะเลในระดับความรู้พื้นฐาน ซึ่งมีบทความ หนังสือ ตำราจำนวนหนึ่งได้กล่าวถึงไว้บ้าง แต่ยังขาดงานที่เชื่อมโยงและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างข้อพิพาทในแต่ละส่วนรอบเกาะญี่ปุ่นว่าเป็นกระบวนการเดียวหรือแยกขาดจากกันอย่างไร อีกด้านหนึ่งประเทศคู่กรณีทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน รัสเซีย ต่างพยายามสร้างคำอธิบายทางประวัติศาสตร์เพื่อยืนยันความชอบธรรมของตนในการครอบครองดินแดน ซึ่งคำอธิบายทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นความรู้อีกด้านหนึ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากข้อพิพาทพรมแดน อีกทั้งยังช่วยชี้ให้เห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ยุคโบราณที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันเสมอ

เหตุที่ผู้เขียนใช้กรณีความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้านเป็นตัวอย่างในการทำความเข้าใจปัญหาระหว่างประเทศด้วยมิติทางประวัติศาสตร์และชี้ให้เห็นความสำคัญของความรู้ประวัติศาสตร์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันนั้น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศสมัยใหม่ กล่าวคือ ในบริบทสงครามเย็นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกได้แบ่งออกเป็นสองค่ายสำคัญที่เผชิญหน้ากัน อีกทั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาปกครองญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายปีนับตั้งแต่แพ้สงครามในปี 1945 ถึงปี 1952 และยังคงฐานทัพไว้ที่โตเกียวและโอกินะวะจนกระทั่งปัจจุบัน ญี่ปุ่นจึงเป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ใกล้โซเวียตและจีนมากที่สุดแห่งหนึ่ง ดังนั้นการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของข้อพิพาทพรมแดนของญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน จะช่วยสะท้อนภาพสงครามเย็นที่ซับซ้อนและยังคงดำรงอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแตกต่างกับสงครามเย็นในตะวันตกที่จบลงแล้วในทศวรรษ 1990

สั่งซื้อได้ที่ ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ และ Ituibooks

โดย ผศ.นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์

สำนักพิมพ์ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2558

ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีประสบการณ์เรียกได้ว่าโชกโชน เคยต่อสู้ผ่านร้อนผ่านหนาวเพื่อปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาหลายหน เคยประสบวิกฤตการณ์เศรษฐกิจจนล้มทั้งทวีป และยังเป็นดินแดนต้นกำเนิดของนักต่อสู้ในตำนานอย่างเช เกบารา และซีมอน โบลิบาร์ หรือเผด็จการตัวพ่ออย่างเอากุสโต ปิเนเชต์ และราฟาเอล ตรูฆิโย หรือต้นแบบประชานิยมอย่างฆวน เปรอน

ดังนั้นหากเปรียบลาตินอเมริกาเป็นหนังสือเรียนทางประวัติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ลาตินอเมริกาจะเป็นตำราที่ให้ตัวอย่างได้ในทุกแง่มุม มีความครบถ้วน หลากหลาย และสามารถนำความรู้ความเข้าใจที่ได้ไปปรับใช้กับการศึกษาภูมิภาคอื่นต่อไป

การทำความเข้าใจลาตินอเมริกาในปัจจุบันคงหลีกหนีไม่พ้นการกลับไปศึกษารากเหง้าต้นกำเนิด ก้าวย่างสู่สังคมโลก: พัฒนาการทางสังคมและการเมืองของลาตินอเมริกาในยุคอาณานิคม จะพาผู้อ่านย้อนเวลากลับไปในช่วงศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 19 เพื่อเรียนรู้ช่วงเวลาที่เป็นจุดเริ่มต้นของกว่า 20 ประเทศ และเพื่อสร้างความเข้าใจต่อภูมิภาคลาตินอเมริกาในปัจจุบัน

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วิศรุต พึ่งสุนทร
สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557
 
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ ครอบคลุมตั้งแต่กำเนิดข้อเขียนประวัติศาสตร์ในยุคกรีกโบราณก่อนเฮโรโดตัสบิดาแห่งประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนถึง “ประวัติศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์” ในศตวรรษที่ 19 ที่กลายมาเป็นมาตรฐานของวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ในโลกปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงบริบททางความคิด รูปแบบของการประพันธ์ การใช้หลักฐาน วิธีการค้นคว้า และแนวคิดการวิเคราะห์ตีความ ของข้อเขียนประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญๆ ในยุคกรีกและโรมันโบราณ สมัยกลาง ยุคเรอเนซองส์ ยุคแสงสว่างและศตวรรษที่ 19
 
ประวัติศาสตร์เป็นรูปแบบข้อเขียนที่มีขนบยาวนานในโลกตะวันตก คำว่า “ประวัติศาสตร์” (history) มีความหมายหลักๆ สองความหมาย ความหมายแรกคือ “สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต” ทั้งเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ ผู้คน รวมถึงความคิดความรู้สึกที่เกิดในอดีต ส่วนความหมายที่สองหมายถึง “ข้อเท็จจริงจากอดีต” หรือ “ความรู้เกี่ยวกับอดีต” เราเข้าถึงความรู้ลักษณะนี้ผ่านร่องรอยที่หลงเหลือมา ทั้งร่องรอยทางวัตถุ การบันทึก ข้อเขียน หรือคำบอกเล่า เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความหมายที่สองของคำว่าประวัติศาสตร์มีส่วนสำคัญในการเข้าถึงอดีต กล่าวคือ เราไม่อาจเข้าถึงประวัติศาสตร์ในความหมายแรกได้โดยไม่ผ่านประวัติศาสตร์ในความหมายที่สอง ประวัติศาสตร์จึงเป็นชุดความรู้รูปแบบหนึ่งที่ผ่านตัวกลางทั้งทางวัตถุและทางภาษา เราไม่สามารถเข้าถึงอดีตได้นอกจากผ่านร่องรอยที่ซีดจางไปตามกาลเวลา ระบบความรู้ความคิดและการรับรู้ทั้งจากปัจเจกและสังคมก็ล้วนมีความแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ทั้งยังเป็นเส้นแบ่งการเข้าถึงความรู้ชุดนี้ด้วย ประวัติศาสตร์จึงเป็นทั้งชุดความรู้และระบบความรู้เกี่ยวกับอดีต 
Page 3 of 3