สรุปโดย วิราวรรณ นฤปิติ

ปัจจุบันสื่อดิจิทัลเป็นช่องทางการเผยแพร่ความรู้ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ดังที่ปรากฏหอจดหมายเหตุดิจิทัลเอกชนที่นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ครอบครัว อัตชีวประวัติบุคคล ประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ การเมืองไม่ว่าจะระดับองค์กร สถาบัน ห้างร้าน สมาคม ฯ เต็มไปด้วยความหลากหลาย ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบเว็บไซต์ ยูทูป เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เช่น ThaiPublica iLaw The 101 World เพจบุคคลสาธารณะทางเฟซบุ๊ก ทั้งด้านอัตชีวประวัติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯลฯ เหล่านี้ที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นฐานในการเผยแพร่ข้อมูลทั้งวิชาการและกึ่งวิชาการ รวมทั้งมีการปรับตัวของสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่และสำนักพิมพ์น้องใหม่อีกมากมาย ที่หันเข้าหาช่องทางในการเผยแพร่ออนไลน์ และให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลอย่างจริงจัง

สาขาวิชาประวัติศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญของสื่อดิจิทัล โอกาสในการพัฒนาวิชาชีพ และพันธกิจของนักประวัติศาสตร์ที่ปรับตัวตามโลกปัจจุบันนี้ จึงได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท หมวดวิชาประวัติศาสตร์สาธารณะ โดยจะเริ่มจัดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2563 วิชาที่เปิดสอนประกอบไปด้วย 1) สัมมนาประวัติศาสตร์กับสื่อ (Seminar in History and the Media) 2) สัมมนาการสะสมและพิพิธภัณฑ์ (Seminar in Collecting and the Museum) 3) จดหมายเหตุและการอนุรักษ์ (Archive and Preservation) และ 4) สัมมนาประวัติศาสตร์สาธารณะ (Public History Seminar) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการฝึกทักษะทางวิชาการประวัติศาสตร์ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างหลากหลาย

ก่อนที่หลักสูตรจะเปิดใช้จริงในปีหน้า สาขาวิชาประวัติศาสตร์ได้จัด “สัมมนาเชิงปฏิบัติการ: จดหมายเหตุดิจิทัล” ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562  โดยได้เชิญ อ.ดร.นยา สุจฉายา อาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรในหัวข้อ “จดหมายเหตุดิจทัลเอกชน: เมื่อเอกสารของเรากลายเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์” ตลอดจนเยี่ยมชมการปฏิบัติงานจริงที่สำนักหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

คำว่า “จดหมายเหตุ” ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เอกสารราชการที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญของรัฐเท่านั้น แต่ยังหมายรวมทั้ง  วัตถุ สิ่งของที่อยู่ในชีวิตของสังคม ปัจจุบันบริษัทเอกชนทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยต่างตื่นตัวกับการสร้างหอจดหมายเหตุขององค์กร หรือจดหมายเหตุธุรกิจ (business archives / corporate archives) อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างแบรนด์ (branding) ของบริษัท นอกจากนั้นยังมีจดหมายเหตุเอกชนในรูปแบบอื่นที่สำคัญอีกอย่างจดหมายเหตุชุมชน (community archives) เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ชมรมคนรักศรีราชา จดหมายเหตุส่วนบุคคล (personal archives) เช่น หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

โดยงานจดหมายเหตุในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักจดหมายเหตุอาชีพเท่านั้น แต่ได้เปิดกว้างให้คนธรรมดาทั่วไปได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความทรงจำ อ.ดร.นยา ได้แนะนำตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์ที่จัดโครงการนักจดหมายเหตุประชาชน (The Citizen Archivist Project) ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการนำภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บันทึกส่วนตัว เรื่องเล่า ฯลฯ ที่เป็นความทรงจำส่วนตัวและคนรอบข้างมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานประวัติศาสตร์ นอกจากตัวอย่างดีๆ วิทยากรยังได้แนะนำขั้นตอนในการสร้างจดหมายเหตุเอกชน โดยเริ่มจากการกำหนดเป้าหมาย หลักการคัดเลือกหลักฐาน การพิจารณาคุณค่าของหลักฐาน การจัดการ และการรักษาหลักฐาน ในยุคสมัยที่สื่อดิจิทัลมีบทบาทมากเช่นปัจจุบัน นักจดหมายเหตุได้ปรับตัวในการทำงานกับเอกสารดิจิทัล (born digital records) และพัฒนาวิธีการจัดเก็บเอกสารในรูปแบบเดิม (traditional records) ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อการอนุรักษ์เอกสารหายากและเปิดโอกาสให้การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้กว้างขวางและง่ายขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างประวัติศาสตร์สาธารณะ

 

การสร้างประวัติศาสตร์ไทยเหนือสมัยใหม่และการเมืองของประวัติศาสตร์นิพนธ์ โดย อ.นิตยาภรณ์ พรหมปัญญา ศุกร์ที่ 27 ก.ย.2562 เวลา 13.00-16.00 น. ห้อง 307 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Page 4 of 16