อะไรคือ บทบาทของประเทศไทยในสงครามปลดแอกอินโดนีเซีย สรุปบรรยายสัมมนาบัณฑิตศึกษา เรื่อง บทบาทของประเทศไทยในสงครามปลดแอกอินโดนีเซีย โดย อ.ธนัท ปรียานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศุกร์ที่ 13 ก.ย.2562 เวลา 13.00-16.00 น. ห้อง 307 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อะไรคือ บทบาทของประเทศไทยในสงครามปลดแอกอินโดนีเซีย
สรุปโดย วัฒนา กีรติชาญเดชา
ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซียและประเทศไทยจะให้ความสำคัญอยู่กับ VOC หรือช่วงรัชกาลที่ 5 แต่แทบจะมีน้อยมากในงานที่พูดถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในบริบทของความขัดแย้งระหว่างเนเธอร์แลนด์และอินโดนีเซียในสงครามต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช
นั่นคือบทบาทของไทยในความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการบนฐานะตลาดค้าอาวุธและประตูสู่โลกภายนอกของฝ่ายเรียกร้องเอกราชของอินโดนีเซีย
ในความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างอินโดนีเซียและไทย แม้ว่าจะมีการติดต่อทางการทูตและการรับรองประเทศใหม่กับรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ โดยให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่ภายหลังรัฐประหาร 2490 ท่าทีของไทยเปลี่ยนไปโดยไม่สนับสนุนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการอีกต่อไป จนท้ายที่สุดประเทศไทยมีการติดต่อทางการทูตและให้การสนับสนุนอย่างฉับพลัน 10 วันก่อนได้รับเอกราช
ในความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ นอกเหนือจากฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ไทยเป็นตลาดมืดอีกแห่งที่ฝ่ายเรียกร้องเอกราชอินโดนีเซียทำการติดต่อค้าขายซื้ออาวุธ เนื่องจากไทยในภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีอาวุธในตลาดมืดที่ได้จากการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นและอาวุธจากความช่วยเหลือสหรัฐอเมริกาที่ลักลอบนำมาขาย กรุงเทพฯ จึงเป็นแหล่งค้าอาวุธเถื่อนหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ซัพพอร์ตขบวนการเรียกร้องเอกราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แล้วอะไรทำหน้าที่เป็น "ท่อน้ำเลี้ยง" ของฝ่ายเรียกร้องเอกราชอินโดนีเซียในไทย
ชายผู้นั้น คือ John Coast นักเขียนชื่อดังที่มีอีกบทบาทหนึ่งในฐานะผู้จัดหาอาวุธและเครือข่ายต่างประเทศของฝ่ายอินโดนีเซีย โดยมีฐานปฏิบัติการในประเทศไทย John Coast อดีตเป็นทหารผ่านศึกชาวอังกฤษ และทำงานในสถานทูตอังกฤษ ก่อนลาออกมาร่วมกับฝ่ายต่อต้านการปกครองของเนเธอร์แลนด์ในอินโดนีเซีย นั่นเป็นเบื้องหลังที่ทำให้เขามีเครือข่ายในกรุงเทพฯ
สะพานเชื่อมระหว่าง John Coast กับอินโดนีเซีย คือ เครืื่องบินจดทะเบียนในประเทศไทยผ่านบริษัท Pacific Overseas Airlines Siam ที่ Coast ดีลเพื่อให้เครื่องบินเถื่อนจอดในไทยได้ โดยทำหน้าที่ขนคนและอาวุธในเส้นทางกรุงเทพฯ-อินโดนีเซีย โดยใช้สนามบินที่สงขลา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของพลตรีไชย ประทีปะเสนเป็นจุดแวะพัก นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องบินของสายการบิน Siamese Airway ขนคนไปยังอินโดนีเซีย ด้วย
นอกจาก Coast แล้ว ยังมี Richard Cobley อดีตทหารผ่านศึกชาวอังกฤษเป็นผู้ขนฝิ่นจากอินโดฯ มาขายในตลาดมืด โดยอาศัยเครื่องบินเดินทางอย่างผิดกฎหมาย ก็อาศัยสนามบินที่สงขลา ดอนเมือง และคลองเตย (คลองเตยของบริติชแอร์เวย์) โดยมีสายสัมพันธ์กับบริษัท P&M ของ ม.ร.ว.พงศ์อมร กฤดากร ที่นายหน้าจัดการข้อยุ่งยากทางกฎหมาย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ Siameric Company ที่มี ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล (น่าจะทำ Shipping) คอยทำหนังสือลงจอดให้ Cobley ในขณะเดียวกันที่สงขลา ม.จ. รังษิยากร อาภากร เป็นผู้ดูแล
นอกจากนี้ยังมีบทบาทของทุนอเมริกันจาก American Indonesian Corporation ของ Matthew Fox ผ่านทาง Bangkok Brokerage Company ซึ่งเป็นนายหน้า ภายหลังที่ยอกยาการ์ตาถูกยึด จึงทำให้ฝ่ายอินโดนีเซียไม่สามารถค้าขายโดยตรงกับสิงคโปร์ได้ จึงย้ายตลาดมายังภูเก็ตแทน
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องการหยุดยั้ง จึงต้องเข้ามาติดต่อกับหน่วยงานในเมืองไทย แต่รัฐบาลไทยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ และปล่อยให้เครื่องบินผิดกฎหมายบินเข้าออกเรื่อย ๆ บทบาทของรัฐบาลไทยจึงมีส่วนในความเคลื่อนไหวผิดกฎหมาย เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้พยายามควบคุมเรื่องดังกล่าว ตลอดจนมีบุคคลระดับสูงในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้อง
นี้เป็นบทบาทของไทยในความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการในสงครามปลดแอกอินโดนีเซียในฐานะซัพพลายเออร์เครื่องมือที่นำไปสู่เอกราช