คนเดินทาง คนสร้างฝัน คนเสี่ยงพนัน คนก่อการวุ่นวาย: โลกสามานย์กับชีวิตผิดสามัญในกัมพูชาคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดย อ.ดร.ธิบดี บัวคำศรี จันทร์ที่ 1 เม.ย.2562 เวลา 13.00-16.00 น.

พรมแดนและผู้อพยพชาวพม่าในภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงคริสตศักราช 1890-1990

อ.ดร. ธัญญรัตน์ อภิวงค์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สรุปโดย วิราวรรณ นฤปิติ

  ผู้อพยพชาวพม่าในเชียงใหม่ สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 1890-1990 สะท้อนความเป็นพม่าอพยพในประวัติศาสตร์ไทยอย่างน่าสนใจ งานวิจัยระดับปริญญาเอกของวิทยากรได้เพิ่มเติมมิติทางองค์ความรู้ ที่จากเดิมนักวิชาการสาขารัฐศาสตร์คนสำคัญอย่าง Jame C. Scott (เป็นต้น) ที่เสนอว่าชาวพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเคลื่อนย้ายถิ่นฐานให้ออกไปจากอำนาจการปกครองศูนย์กลางที่มักจะได้รับการสถาปนาขึ้นในพื้นที่แถบที่ราบลุมแม่น้ำ การค้นคว้าด้วยวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของ อ.ดร.ธัญญรัตน์ เสนอต่อมาว่าชาวพม่าอพยพบางกลุ่มได้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของพวกเขาผ่านเครือขายธุรกิจการค้าไม้ในภาคเหนือของไทย โดยระยะเวลาในการวิจัยนี้ (100 ปี) เป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนสามารถครอบคลุมความเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพของชายแดนได้เป็นอย่างดี

   ช่วงเวลาก่อนที่จะมีการกำหนดพรมแดนอย่างเป็นทางการด้วยกฎหมาย ในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 แรงงานคนเป็นส่วนสำคัญของการทำสงครามแย่งชิง ชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ ถูกแย่งชิงในฐานะเชลยสงคราม ดังที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาวต่างชาติ ต่อมาเมื่อมีการขยายอำนาจจักรวรรดินิยมเข้ามายังดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ชาวพม่าอพยพกลายเป็นพ่อค้าคนกลางในสนามการค้า เนื่องจากกฎหมายควบคุมการค้าของสยามไม่สามารถมีผลบังคับใช้ต่อพวกเขา ซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษ, ฝรั่งเศส ฯลฯ พวกเขาเป็นส่วนสำคัญให้กับบริษัทการค้าข้ามภูมิภาคอย่าง บอมเบย์ เบอร์มา, บริติช เบอร์เนียว, หลุยส์ เลียวโนเวล์ส เป็นต้น ดำเนินไปได้ โดยเข้ามาสร้างสายสัมพันธ์กับตระกูลเจ้าท้องถิ่นในเชียงใหม่เพื่อจุดประสงค์เป็นตัวกลางทางการค้าไม้และฝิ่น ระหว่างอาณานิคมตะวันตก เจ้าท้องถิ่น และสยาม

   ชาวพม่าอพยพและกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ ได้แก่ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ มอญ เป็นต้น หาเลี้ยงชีพในระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีภายใต้รัฐบาลอาณานิคม ในขณะที่แรงงานชาวไทยยังคงต้องอยู่ภายใต้รัฐสยาม ชาวพม่าและอื่นๆ จึงเป็นประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายการค้าจากเงื่อนไข อาทิ พวกเขาสามารถเลือกถือสัญชาติได้โดยขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางการค้า พูดได้หลายภาษาเพื่อใช้ทำงานกับเจ้าไทย คนท้องถิ่นภาคเหนือ และรัฐบาลอาณานิคม เป็นคนกลางทางการค้าที่มีเครื่องมือทำธุรกิจอยู่ในมืออยู่แล้ว อาทิ แรงงานคน แรงงานช้าง  มีความเชี่ยวชาญในการทำป่าไม้ มีความเชี่ยวชาญด้านทำเลในการทำธุรกิจ พวกเขาเหล่านี้ต้องการเพียงเงินทุน ซึ่งเจ้านายในราชสำนักสยามเป็นผู้ลงทุนและให้สัมปทาน จนกระทั่งชาวพม่าบางคนได้รับบรรดาศักดิ์จากราชสำนักสยาม นอกจากนี้ชาวพม่ายังมีส่วนในการค้าฝิ่นเถื่อนในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย จากการที่พวกเขาใช้ความสามารถและเครือข่ายการค้าและเครือญาติที่ซับซ้อนในการหลบเลี่ยงกฎหมายของรัฐบาลอาณานิคม 

 

 

Page 7 of 16