"...การมาปฐมนิเทศในครั้งนี้ทำให้เราเห็นภาพประวัติศาสตร์แบบที่ไม่ใช่การท่องจำได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น..."

งานปฐมนิเทศ สาขาประวัติศาสตร์ 2561 วันที่ 8-9 กันยายน 2561 ณ จ.นครราชสีมา 

โดย วสิษฐ์พล  ปานเผาะ ชั้นปีที่ 2 สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณคิดว่านักประวัติศาสตร์เขาทำงานอะไรกันบ้างครับ? เขาคงจะเป็น...เด็กเนิร์ดๆ แว่นหนาๆ แบกหนังสือแทบจะหลังหัก เป็นปอดติดเชื้อเรื้อรังเพราะวันๆ เอาแต่นั่งอยู่ในหอจดหมายเหตุ ใช่ครับ...นี่คือภาพที่คนส่วนใหญ่มักจะมองมาเมื่อพูดถึงนักประวัติศาสตร์ มันเป็นภาพที่แม้แต่เราเองก็เคยคิดว่า งานประวัติศาสตร์จะเป็นแบบนั้น จนกระทั่งได้มาสัมผัสกับมันจริงๆ  

เราเคยคิดว่า ประวัติศาสตร์เป็นแค่เรื่องของตำรา เอกสาร หรือ Text หนาๆ ที่ต้องท่องจำทุกตัวอักษรอย่างน่าเบื่อหน่าย แต่ที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่อยู่รอบๆ ตัวเรา โดยที่เรารู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไป ที่ซุกซ่อนคอยให้เราสำรวจและค้นหามันได้ตลอด ไม่แน่นะ...ของที่เราคิดว่ามันไม่มีอะไร อีกร้อยปีพันปีต่อไป มันอาจจะกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกว่า ครั้งหนึ่งเคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง

การมาปฐมนิเทศในครั้งนี้ทำให้เราเห็นภาพประวัติศาสตร์แบบที่ไม่ใช่การท่องจำได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น การบรรยายของอาจารย์ การได้แลกเปลี่ยนความคิดกับพี่ๆ น้องๆ ในสาขา ทำให้เราเข้าใจว่า ความรู้ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ มันเป็นสิ่งที่เราขบคิด ตั้งข้อสงสัย และเล่นสนุกกับมันได้มากกว่าจะเทิดทูนมันเอาไว้บนหิ้ง

เราสนุกกับการชมโบราณสถานมากเลย ได้เห็นร่องรอยศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในปราสาทหินพิมาย มันแบบ....ตื่นเต้นอ่า แต่มันก็อดไม่ได้นะที่จะตั้งข้อสงสัยว่า... 

         

"...เอ๊ะ!!!?? แล้วนักประวัติศาสตร์มันจะอยู่ในสังคมทุนนิยมแบบนี้ยังไงกัน สังคมที่คนแคร์เม็ดเงินมากกว่าความรู้?..."

และเหมือนอาจารย์เขาจะรู้ว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาพื้นฐานที่นักศึกษาประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจสาขานี้จะโดนถามเรื่องการทำงานในอนาคต อาจารย์เลยเตรียมข้อมูลส่วนนี้มาตอบข้อสงสัยของพวกเรากัน ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาที่เป็นศิลปศาสตร์ (Liberal Arts) ซึ่งไม่ใช่วิชาชีพแบบหมอ วิศวกร เภสัชกร พยาบาล ฯลฯ ที่เขาเป็นกัน ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้จักการจัดการข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระบบ ประเมินค่ามันได้อย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ อาจารย์ยังชี้แจงแถลงไขถึงรายวิชาที่จะเปิดใหม่เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำงานและใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เราร่ำเรียนมาเข้าด้วยกัน เช่น วิชาประวัติศาสตร์กับการสร้างสรรค์สื่อ เป็นต้น

เรียกได้ว่า งานปฐมนิเทศในครั้งนี้ทำให้เราเห็นภาพการทำงานของนักประวัติศาสตร์ และเห็นภาพของความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของประวัติศาสตร์ในอนาคต อีกทั้งยังได้สานสัมพันธ์กับพี่ๆ น้องๆ ในสาขาให้รู้จักกันมากขึ้นอีกด้วย

    

 

 

 

พระอินทร์ในคติพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่พบในงานศิลปกรรมไทย                

โดย ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ 

ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.วิศรุต พึ่งสุนทร

สรุปโดย วิราวรรณ นฤปิติ

พระอินทร์เป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กำเนิดของพระอินทร์นั้นสืบจากคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ได้ตั้งแต่ยุคสมัยพระเวท ต่อมาคือยุคอิติหาส หรือยุคมหากาพย์ (เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องเล่ามหากาพย์รามายณะและมหาภารตะ) ทั้งสองยุคนี้ล้วนแล้วแต่เกิดก่อนศาสนาพุทธทั้งสิ้น [พุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้นแยกออกจากนิกายมหาสังฆิกะหรือต้นเค้าของนิกายมหายานในการสังคายนาครั้งที่ 2 ราว พ.ศ. 100 หรือ 443 ปีก่อนคริสต์ศักราช] แสดงให้ถึงการรวมเอาคติเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์เข้ามาไว้ด้วยกันกับคติศาสนาพุทธเถรวาทซึ่งเกิดขึ้นทีหลัง ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ ได้นำเสนอหลักฐานจากงานศิลปกรรมด้วยข้อมูลที่ละเอียดละออว่า มีการสร้างรูปเคารพพระอินทร์ในฐานะผู้ติดตามหรือสาวกของพระพุทธเจ้าในศิลปะอินเดียสมัยคันธาราฐ ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมยุคต้นๆ ราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 ที่ช่างชาวอินเดียได้อิทธิพลจากศิลปะกรีก-โรมันค่อนข้างมาก

รูปแบบทางประติมาณวิทยาของพระอินทร์มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยหรือความนิยมในงานช่าง ซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมากที่วิทยากรแบ่งประเด็นออกมานำเสนอที่ไม่สามารถกล่าวได้ทั้งหมดในการสรุปนี้ได้ โดยจะยกตัวอย่างอาทิ พระอินทร์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ เป็นส่วนประกอบของคติการสร้างรูปเคารพบูชาพระพุทธเจ้าตามพุทธประวัติ ซึ่งไม่มีรูปของพระพุทธเจ้าในลักษณะบุคคลอยู่ในนั้น เป็นต้น หรือรูปแบบที่แปลกตาอื่นๆ อย่างการสร้างพระอินทร์มีสามพระเนตร ซึ่งพบในศิลปะเขมรแบบบายน และในไทยพบรูปแบบเดียวกันที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลด้านคติการสร้างและรูปแบบศิลปะเดียวกัน สีกายของพระอินทร์เป็นสีเขียวเพียงอย่างเดียวหรือไม่? ประเด็นนี้วิทยากรกล่าวว่าไม่จำเป็นเสมอไป ขึ้นอยู่กกับการตีความคัมภีร์ทางศาสนาและความนิยมในงานช่างอีกเช่นกัน อาทิ ในศิลปอยุธยามีการวาดจิตรกรรมฝาผนังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โดยมีการวาดเจดีย์จุฬามณีเป็นส่วนประกอบ เจดีย์อันเป็นสถานที่ที่ใช้เก็บสิ่งของบูชาพระพุทธเจ้าได้แก่ เครื่องอัฐะบริขารและพระธาตุ ช่างชาวอยุธยาตีความว่าแก้วอินทนิลหรือพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นสีเขียว พระอินทร์ซึ่งมีชื่อที่พ้องกัน จึงถูกกำหนดลักษณะให้เป็นสีเขียวไปด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะไทย (ศิลปะเขมรพบว่ามีการสร้างพระอินทร์สีน้ำเงินเป็นต้น)        

นอกจากนี้คติที่กลืนกลายของพระอินทร์ในศาสนาพุทธเถรวาทยังปรากฏขึ้นอีกมากมายทั้งในงานสถาปัตยกรรม คัมภีร์ศาสนา อาทิเช่น การสร้างคำอธิบายคติการสร้างปราสาทหินนครวัด ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเดิมทีเป็นงานศิลปกรรมเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไวศณพนิกาย สร้างโดยพระเจ้าสุริยวรมัน ที่ 2 (ราวพุทธศตวรรษที่ 16) ว่าเป็นคติการสร้างสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในศาสนาพุทธมหายาน อันมีพระอินทร์ประทับอยู่บนนั้น นอกจากนั้นยังมีการรวมพระอินทร์เข้าไปในคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถา หรือพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ตอนเสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยเช่นกัน กระทั่งล่วงลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 24 การหยิบยกพระอินทร์มาเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธี 12 เดือนในรัชกาลที่ 5 เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงคติทางศาสนาและพิธีกรรมที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ ระหว่าง พุทธ พราหมณ์ ผี ซึ่งเป็นระบอบความเชื่อตามจารีตที่เกาะเกี่ยวกันอยู่จนแยกออกจากกันไม่ได้ จากที่กล่าวมาประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการกลืนกลายของพระอินทร์ในพุทธศาสนาเถรวาท ที่พบในงานศิลปกรรมและคัมภีร์ศาสนาในกลุ่มประเทศที่นับถือตั้งแต่ใน อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา พม่า ลาว และไทย เป็นการแสดงให้เห็นถึงการขึ้นมามีอำนาจนำของพุทธศาสนาเถรวาทเหนือคติทางศาสนาเก่าคือ พราหมณ์-ฮินดู ตั้งแต่เริ่มมีการแยกนิกายและเผยแผ่พุทธศาสนาเถรวาทเป็นต้นมา

Page 14 of 16